บ่ายวันนี้ (4 ต.ค.64) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานจะมีการประชุมนัดพิเศษ ในการพิจารณาแนวทางดูแลราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) และน้ำมันดีเซลบี10 ซึ่งเป็นน้ำมันฐาน เพื่อดูแลประชาชนไม่ให้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในการประชุมจะมีเสนอให้แยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด และเสนอขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน หรือ ก๊าซหุงต้ม เป็นเวลา 4 เดือน เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในการขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จะมีรายละเอียดเงื่อนไขในการใช้เงินที่ชัดเจน ใน 3 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และ ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ดังนั้นในการขอใช้เงินกู้ จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งมี สศช. เป็นประธานก่อนว่าจะเข้าเงื่อนไขใดหรือไม่
“การใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้เงินกู้ เพื่อใช้บรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ผ่านมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ แต่ในส่วนของ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ต้องไปดูแนบท้ายของ พ.ร.ก. ว่ายังครอบคลุมในส่วนนี้หรือไม่ และการตีความในเรื่องของวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้ ซึ่งในการขอใช้เงินกู้ จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ก่อน”
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กบง. จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้เงินในการอุดหนุนราคาแอลพีจีในประเทศต่อเนื่อง
ส่งผลให้สถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ในส่วนของบัญชีแอลพีจี พบว่า ติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทจากการอุดหนุนราคาจนใกล้เพดานที่กำหนดคือ 1.8 หมื่นล้านบาท
ขณะที่บัญชีน้ำมันแม้ยังมีฐานะสุทธิ เป็นบวกกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท แต่จากสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังมีแนวโน้วที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ดูแลราคาพลังงานในภาพรวมของประเทศได้
ทั้งนี้ ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ได้กำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกู้ 3 ด้าน คือ
1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทาการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท
2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง กรอบวงเงินไว้ที่ 300,000 ล้านบาท
3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเป็นค่าใชจ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ กรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท