ผวาโดมิโนประกันโควิด ยอดเคลมพุ่ง 2 หมื่นล้าน

20 ต.ค. 2564 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 17:18 น.

จับตา บริษัทประกันภัย เข้าเกณฑ์ขอผ่อนผันเกณฑ์ส่งเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR) หลังยอดเคลมประกันโควิดพุ่ง 2 หมื่นล้านบาท แนะเปิดช่องให้บริษัท-ลูกค้าแปลงกรมธรรม์โดยสมัครใจ ช่วยลดโอกาสธุรกิจประกัน เดินตามรอย เอเชียประกันภัย 1950

ปัญหาการเคลมสินไหมประกันโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ที่ทะลักเข้ามาจำนวนมาก นำมาซึ่งคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หลังจากบริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคงไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย

 

บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 เป็น 1 ใน 4 บริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียนจากผู้ซื้อประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากการจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกินกว่า 15 วันหลังจากส่งเอกสารให้กับทางบริษัทประกันภัยร่วมกับ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด ซึ่งเดิมคือ สินทรัพย์ประกันภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

 

สำนักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกมาตรการผ่อนผัน สําหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนตามสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ไม่ต่ำกว่า 120% ได้จนถึงสิ้นปี 2564 แต่ต้องปรับเพิ่มเป็น 140% ในวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยทุกบริษัทต้องผ่านคุณสมบัติก่อนยื่นคำขอผ่อนผันกับคปภ.

ผวาโดมิโนประกันโควิด ยอดเคลมพุ่ง 2 หมื่นล้าน

หวั่นซ้ำรอย“เอเชีย ประกันภัย”     

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัยรายหนึ่งเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มมีโอกาสที่จะเห็นบริษัทประกันภัยในรายที่ถูกร้องเรียนเดินตามรอยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 อีกแน่นอน เพราะหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศ มีโอกาสที่จะเห็นยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาอีก แนวโน้มจึงมีความไม่แน่นอน ประกอบกับคนที่ได้รับวัคซีนแล้วจะประมาทในการการใช้ชีวิตด้วย

 

ในแง่ของความเสียหายจากค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงเมื่อสิ้นเดือนกันยายนนั้น น่าจะเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนตัวเลขจ่ายเคลมสินไหมที่ออกมา 19,756.39 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขที่ยังบันทึกไม่เต็มจำนวน โดยเฉพาะกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ควรจะบริหารจัดการเคลมสินไหมไปก่อน เช่น ขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์บางส่วนเป็นแบบโคม่า 80% อีก 20% ยังเป็น เจอจ่ายจบ

 

 “สมมติความคุ้มครอง 50,000 บาท ขอแปลงกรมธรรม์เป็นกรณีโคม่า เสียชีวิตจ่าย 3 แสนบาท และเจอจ่ายจบจ่าย 10,000 บาท หากลูกค้าไม่สมัครใจ บริษัทควรยกเลิกธรรม์และคืนเงินกับลูกค้า เพราะเท่าที่ทราบ ตามหลักรับประกันภัย กรมธรรม์ใดไม่ควรเกิน 10% ของเงินกองทุน แต่รอบแรกบางบริษัทขายไป 30% ของเงินกองทุนแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

 

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า เมื่อบริษัทประกันภัยทำหน้าที่ดูแลลูกค้าจนเต็มที่แล้ว และยิ่งเห็นสถานการณ์บริษัทขาดทุน จึงควรเปิดช่องให้แต่ละบริษัทสามารถแจ้งลูกค้า เพื่อขอเปลี่ยนแปลง เพราะกรมธรรม์ทั่วโลกก็เขียนไว้ให้ลูกค้าและบริษัทสามารถแปลงหรือยกเลิกได้ โดยไม่ต้องรอให้บริษัทแจ้ง เพราะไม่เช่นนั้น กองทุนประกันภัยก็รับไม่ไหว ที่น่าห่วงคือ อนาคตยังยากต่อการคาดเดา และไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ยอดผู้ติดเชื้อจะกลับมาเพียงใด

 

ส่วนกรณีที่คปภ.ออกมาตรการผ่อนผันเกี่ยวกับสภาพคล่องหรือเงินกองทุนให้บริษทประกันภัย อาจช่วยธุรกิจเพียงระยะสั้นๆ คือ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นการผ่อนผันเรื่องการจ่ายเคลมสินไหมและ CAR ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มประสบภาวะง่อนแง่น ซึ่งในที่สุด อาจจะเห็นบริษัทเดินตามรอยเอเชียประกันภัย 1950 อีกแน่นอน

 

"เดอะวัน"รับขาดทุน

ด้านนายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดอะวันประกันภัยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทและผู้ถือหุ้นได้ดำเนินการเพิ่มทุนปรับปรุงสถานะบริษัทและในช่วงที่ผ่านมา และได้ยื่นขอผ่อนผ่อนเกณฑ์กับคปภ.แล้ว  โดยบริษัทฯจ่ายเคลมสินไหมโควิด-19 ไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับแค่ 500 ล้านบาท ขาดทุนเห็นๆ และยังเหลือกรมธรรม์แบบ เจอจ่ายจบ อีก 8 แสนฉบับ

นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดอะวันประกันภัย

 “บริษัททยอยจ่ายเคลมโควิด-19 ทุกวัน ซึ่งจะมีรายงานทุกสิ้นวัน ตอนนี้ผ่านช่วงพีคแล้ว จำนวนคนติดเชื้อก็ปรับลดลง แต่แนวโน้มยังคาดการณ์ยาก และเรายังรอคำตอบจากคปภ. ส่วนจะเห็นบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตอีกหรือไม่นั้น  อาจจะมีอีกขึ้นกับแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อด้วย”นายอรัญกล่าว

 

สำหรับผลดำเนินงานบมจ. เดอะวัน ประกันภัย บริษัทขาดทุนสุทธิในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ 147.78 ล้านบาท และ 100.11 ล้านบาท สำหรับงวด 3 เดือนและ 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามลำดับ ซึ่งบริษัทไม่ได้ตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดที่ประมาณขึ้นของบริษัทมี 607.39 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 400.04 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนต่ำกว่าสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้

 

เพิ่มทุนใหม่รับมือเคลมประกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเชื่อว่า จำนวนสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ในภาพรวม ยังเพียงพอสำหรับสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดในภาพรวมระยะยาว โดยบริษัทมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่มีผลบังคับใช้ 1,006,480 กรมธรรม์ อัตราส่วนความเสียหายหรือ Loss ratio ที่เกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์คุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่บริษัทได้จำหน่ายมานั้น มีค่าเฉลี่ยของความเสียหายอยู่ที่ 84%

 

ส่วนข้อสมมติฐานอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss ratio) 100% ของสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ สำหรับกรมธรรม์ที่คุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีผลบังคับอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายบริหารของบริษัทเชื่อมั่นว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า

 

ทั้งนี้บริษัทมีผลขาดทุนสะสม  2,492.14 ล้านบาท ณ  30 มิถุนายน 2564 จากขาดทุนสะสม 2,392 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพิ่มทุนในเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 200 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและให้การดำรงเงินกองทุนของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนเป็น 2,840 ล้านบาท

 

คลังยันกองทุนประกันมั่นคง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า แม้มีการนำเงินจากกองทุนประกันวินาศภัยไปจ่ายชดเชยให้กับผู้เคลมประกันภัยโควิด หลังมีการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท เอเชียประกันภัย ก็ไม่ทำให้กองทุนฯ เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากยังมีเบี้ยประกันที่นำส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบริหารจัดการกองทุนได้ปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

“การสั่งปิดกิจการของบริษัทเอเชีย ทำให้ต้องใช้เงินจากกองทุนฯ มาจ่ายค่าสินใหมให้กับผู้เอาประกันที่ยื่นเคลมมา ตัวเลข ณ วันที่ 15 ตุลาคม อีกประมาณกว่า 16,000  ราย  ส่วนบริษัทประกันอื่นยังบริหารจัดการได้ไม่พบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง มี 2 ราย ได้แก่ อาคเนย์ประกันภัย ซึ่งขณะนี้ก็ได้เพิ่มทุนแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาจนถึงขั้นต้องปิดกิจการเหมือน บริษัทเอเชียฯ”นายอาคมกล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,724 วันที่  21-23 ตุลาคม พ.ศ. 2564