EIC คาดต้องใช้เวลา4เดือนคุมโควิดระลอก3ผู้ติดเชื้อแตะ 3แสนราย เศรษฐกิจเสียหายกว่า 3.1แสนล้าน รุดปรับลดประมาณจีดีพีปี 64 เป็น 1.9% จาก 2.0% ชูส่งออกรัฐช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center:EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 2.0% สาเหตุจากปัจจัยลบได้แก่ 1.การระบาดของโควิด-19ที่กระจายตัวและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน (เมษายน-กรกฎาคม) ในการควบคุม ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ลดลงมาก 2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้มีแนวโน้มลดต่ำมาอยู่ที่ 4แสนคนจากเดิมคาดไว้ 1.5ล้านคน แม้ทางการจะมีแผนเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศจากความกังวลต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นต่อธุรกิจ 3. ตลาดแรงงานอ่อนแรงอีกครั้ง หรืออัตราว่างงานต่ำแต่ผู้มีงานทำรายได้ลดลง ไม่มีรายได้ พบว่า การจ้างงานลดลงในภาคการท่องเที่ยว ค้าส่งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ การระบาดที่ยืดเยื้อยังมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานกลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีโดยเพิ่มจาก 1.86% ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นจำนวน ผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน ซึ่งสูงกว่าช่วงปิดเมืองรอบแรกเมื่อปีก่อนไปแล้ว ทั้งนี้อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาในไตรมาสแรกนี้ยังไม่ได้รวมเอาผลของการระบาดระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงมากเข้าไปด้วย ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก ในขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงทำงานก็ปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกที่ -1.8% จากจำนวนคนทำงานต่ำระดับ (ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเสมือนว่างงานที่ยังไม่ตกงานแต่ไม่มีการทำงานและไม่มีรายได้ที่มีอยู่ถึง 7.8 แสนคน เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 3.6 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนคนทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดต่ำลง นอกจากนี้ รายได้จากการทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือน โบนัส และค่าแรงโอที ก็ยังหดตัวอย่างมีนัยสำคัญถึง -8.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกสาขาธุรกิจสำคัญนอกภาคเกษตร
ทั้งนี้แผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยากและกระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพีของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ประมาณ 91%ปีนี้ทรงตัวในระดับสูง เพราะคนยังต้องการสินเชื่อและบางส่วนอาจจะกู้นอกระบบ หากสถาบันการเงินระมัดระวัง ดังนั้นปัญหาหนี้สูงจะกระทบการใช้จ่ายในระยะต่อไป
สำหรับปัจจัยบวก คือ ภาครัฐโดยคาดว่า การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 9.6% โดยมาจากโครงการในงบประมาณและเมกะโปรเจ็คต่างๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟทางคู่ เป็นต้น ขณะที่รายจ่ายนอกงบประมาณ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้ราว 5.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2.9 แสนล้านบาทก่อนการระบาดรอบ 3 และมีการอนุมัติเพิ่มเติมอีกราว 2.4 แสนล้านบาทหลังมีการระบาดรอบ 3 ซึ่งเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมดวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมาตรการที่ออกมาใหม่ ได้แก่ การลดค่าน้ำค่าไฟ การขยายมาตรการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการ คนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ นอกจากนี้ ล่าสุดภาครัฐยังได้ออก พรก. กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถใช้วงเงินได้จนถึงช่วงปีหน้า
“ปีนี้ภาครัฐช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะหายไป 3.1แสนล้านบาทแต่เม็ดเงินที่ภาครัฐตั้งใจใส่เข้ามาราว 1แสนล้านบาทในไตรมาสที่สอง เพราะไตรมาสสองค่อนข้างเปราะบาง ผลกระทบเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คาดว่าจีดีพีอาจจะติดลบ แต่ช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าพ.ร.ก.กู้ 1ล้านล้านบาทหมด ส่วนพ.ร.ก. 5แสนล้านบาทเติมเข้ามาอีก 1แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 4แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับภาครัฐ ที่สำคัญEICมองว่ามีความจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน เอสเอ็มอี และช่วยสภาพคล่องเอสเอ็มอีเร่งด่วน
สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะคาดว่ามีโอกาสที่ปีหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะเกิน 60% แต่ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น เพราะหนี้สาธารณะของไทยได้รวมทั้ง หนี้FIDF หนี้รัฐวิสาหกิจซึ่งมีความแข็งแรง โดยระดับหนี้สาธารณะแม้จะเพิ่มขึ้นสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และความท้าทายในการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคก่อสร้างจากต้นทุนเหล็กแพงมากหลังจากจีนปิดโรงงาน ที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและต้นทุนจากค่าจ้างแรงงานคนไทยแทนต่างด้าว”
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ยังคาดว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อน ตั้งแต่ต้นปีนี้เงินบาทอ่อนค่าลง 4.2% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดต่ำลงเป็นสำคัญ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2564 ปัจจัยภายในประเทศไทยจะยังคงเป็นแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินบาท ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจขาดดุลครั้งแรกในรอบ 8 ปี และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยค่อนข้างจำกัด แต่ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะไม่อ่อนค่ามากเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนลงในช่วงครึ่งหลังด้วยเช่นกัน ตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรปที่จะทยอยเร่งตัวขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอลง ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปีธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง (ทำ QE taper) ก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)ที่มีแนวโน้มดำเนินการในช่วงต้นปี 2565 ทั้งนี้ค่าเงินบาทอาจกลับมาโน้มแข็งขึ้นได้อีกครั้งในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า หากไทยมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนจนใกล้จะมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่
สำหรับความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ประกอบไปด้วย 1ใระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจนานกว่าคาด รวมทั้งการระบาดรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ 2. ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอโดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 3. การกลับมาระบาดหรือการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย และ 4. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด เช่น ภาวะหนี้เสียที่อาจปรับเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น