8 พ.ย.2564 - เกาะติด กฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) เมื่อสหรัฐอเมริกา ขยับร่างกฎหมายใหม่ เป็นบวก หรือ ลบต่ออนาคตโลกการเงินไทย ? เมื่อกระแสการลงทุนมาแรง แต่ "คริปโทเคอร์เรนซี่" ยังไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของที่เป็นสากล และ ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่รับรองให้ คริปโทเคอร์เรนซี เป็นสกุลเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ล่าสุด นาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วน Thirachai Phuvanatnaranubala - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เปิดแง่มุม วิพากษ์ “กฎหมายสหรัฐเล็งเป้าไปที่เงินคริปโทฯอย่างไร?”กับจุดเปลี่ยน 4 รูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อ การซื้อ-ขาย และ การกำกับดูแล " สกุลเงินดิจิทัล" ของประเทศต่างๆ ตามเนื้อหาใจความดังนี้ ...
กฎหมายสหรัฐ เล็งเป้าไปที่ " เงินคริปโตเคอร์เรนซี่ " อย่างไร?
กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลโจ ไบเดน ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ได้ผ่านสภาล่างแล้ว
แต่มีข้อกำหนดใหม่เอี่ยม เกี่ยวกับเงินคริปโท ที่ทำให้วงการนี้สะท้านสะเทือน
ในรูป 1 ของ Volt Equity อธิบายว่า กฎหมายนี้กวาดเรียบ เพื่อบังคับให้องค์กรต่างๆ ถูกตีความว่า เข้าข่ายเป็นบริษัทโบรกเกอร์ เพื่อให้ทางการมีอำนาจกำกับควบคุม
ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงทุกนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายคริปโท เช่น โรบินฮูด อีเทรด ฯลฯ และมีการกำหนดนิยาม สำหรับ’สินทรัพย์ดิจิทัล’ เป็นทางการ
ในรูป 2 กฎหมายบัญญัติให้ทุกนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายคริปโท ต่อไปในอนาคต จะต้องจัดทำรายงานส่งสรรพากรสหรัฐเป็นประจำ
ข้อมูลที่รายงานคือ ชื่อลูกค้า ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ยอดขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นในบัญชีลูกค้ารายนั้นในแต่ละปี และกำไรขาดทุน
โดยกรณีกำไร ต้องแยกระหว่างสินทรัพย์ที่ลูกค้าถือเป็นเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี และมากกว่าหนึ่งปี ซึ่งอัตราภาษีคงจะไม่เท่ากัน
สำหรับตลาดทุนปกติ ข้อมูลเหล่านี้มีพร้อมเพียงอัตโนมัติอยู่แล้ว เพราะมีการทำ Know Your Customer
ในรูป 3 นิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายคริปโท ถ้าไม่ยื่นรายงานตามที่กำหนด จะถูกปรับ 250 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบัญชีลูกค้า
โดยกำหนดเพดานค่าปรับเอาไว้ 3 ล้านดอลลาร์
ผู้มีหน้าที่รายงานนั้น นอกจากนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายคริปโทแล้ว กฎหมายได้บัญญัติ ให้ตัวนักลงทุนเอง จะต้องรายงานด้วย
โดยให้ถือว่า บุคคลธรรมดารายใดได้รับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่า 10,000 ดอลลาร์ขึ้นไป ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับ กรณีที่ได้รับมูลค่าดังกล่าว ในรูปแบบเงินสด
ตรงนี้คือจุดยุ่งยาก เพราะกฎทั่วไปในสหรัฐ บุคคลธรรมดารายใดได้รับมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ขึ้นไป ถ้าหากได้ในรูปแบบเงินสด จะต้องรายงานที่มาที่ไป
กฎนี้มีมานานแล้ว เพื่อป้องปรามการฟอกเงิน และการ finance การก่อการร้าย
ในรูป 4 การซื้อขายในปี 2021 และ 2022 ได้รับยกเว้น ยังไม่ต้องรายงาน โดยจะต้องเริ่มรายงานตั้งแต่ปี 2023
อย่างไรก็ดี คาดได้ว่า นิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายคริปโท จะไม่รอจนถึงปี 2023 แต่น่าจะทะยอยเริ่มขบวนการทำงานเตรียมไว้เนิ่นๆ ตั้งแต่ปี 2022
ถามว่า ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์ระบุว่า กฎใหม่นี้จะกระทบธุรกรรม defi บางชนิด?
นิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายเงินคริปโทนั้น มี 2 จำพวก คือ
จำพวกหนึ่ง เป็นตลาดแบบปกติ คล้ายตลาดหุ้น เช่น บริษัท Coinbase กลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจัดทำรายงาน
แต่ค่าใช้จ่ายจะไม่มากนัก เพราะสามารถใช้ AI ทำแบบอัตโนมัติได้ และถ้าไม่คุ้ม ในอนาคตก็จะสามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมซื้อขายได้
กลุ่มนี้จึงจะไม่มีปัญหามากนัก
อีกจำพวกหนึ่ง เป็นแพลตฟอร์มที่จับคู่ลูกค้าแบบอัตโนมัติ โดยจะจัดทำถังเดี่ยวจำนวนมาก
แต่ละถัง จะจับคู่เฉพาะจากคอยน์หนึ่ง(สมมุติ A)ไปอีกคอยน์หนึ่ง(สมมุติ กล่าวคือ ถังนี้ จะไม่ยุ่งกับคอยน์อื่นใดเลย ยุ่งแต่เฉพาะ A แลกกับ B
เมื่อมีลูกค้า(สมมุติ ก)ต้องการขาย A ซื้อ B คำสั่งของ ก ก็จะวิ่งไปลงถังนี้ โดยอัตโนมัติ เรียกว่า Auto market making
ราคาพร้อมขาย A แลกกับ B จะคำนวนใหม่ตลอดเวลา โดยเฉลี่ยกับออเดอร์ของลูกค้าอื่นๆ ที่สั่งไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น ในถังนี้ จะมี A พร้อมขายแลกเป็น B
ต่อมา เมื่อมีลูกค้า(สมมุติ ข)ต้องการซื้อ A ขาย B คำสั่งของ ข ก็จะวิ่งลงไปถังนี้ และออเดอร์ก็จะจบลง ในราคาเฉลี่ย
วิธีซื้อขายแบบอัตโนมัติในแพลตฟอร์มเหล่านี้ จึงสามารถตั้งค่าธรรมเนียมได้ต่ำกว่าจำพวกแรกมาก
แต่เนื่องจากไม่มี Know Tour Customer จึงมีนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ออกมาวิจารณ์ ไม่ชอบใจแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพราะลูกค้าที่ซื้อขายไม่ต้องเปิดเผยตัว
เกรงจะตกเป็นเครื่องมือฟอกเงิน หรือใช้ finance การก่อการร้ายได้ง่าย
แต่กฎใหม่จะทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ติดขัด เพราะทั้ง ก และ ข จะไม่รู้เลยว่า A และ B ที่แลกเปลี่ยนกันนั้น มาจากผู้ใด
ดังนั้น ข ที่ได้รับเงินคริปโทเกิน 10,000 ดอลลาร์ จึงไม่มีหนทางที่จะจัดทำรายงานได้เลย ซึ่งจะทำให้ ข มีความผิดอาญาอัตโนมัติ
รวมไปถึงตัวแพลตฟอร์มเอง ในฐานะนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ให้บริการซื้อขายคริปโท ก็จะไม่สามารถจัดทำรายงานได้เช่นกัน
ดังนั้น ในที่สุด แพลตฟอร์มเหล่านี้ จะต้องทำ Know Your Customer ซึ่งนักลงทุนไม่ชอบ
หรือมิฉะนั้น ก็จะต้องประกาศ ไม่รับลูกค้าชาวอเมริกัน ซึ่งจะเท่ากับธุรกิจจะฝ่อไปโดยปริยาย
กลุ่มที่จะถูกกระทบอีกกลุ่มหนึ่ง น่าจะเป็นคอยน์ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการที่ลูกค้า ก ข จะขอยืมคอยน์ เพื่อเอาไปซื้อขายล่วงหน้าแบบเก็งกำไร
ที่ผ่านมา คอยน์ลักษณะนี้ เป็นเครื่องมือหลักในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน สามารถเอาคอยน์ที่เป็นที่นิยม ในระหว่างที่ตนเองยังไม่ขาย ไปหาดอกเบี้ยได้ในอัตราสูง
สาเหตุที่คอยน์สามารถหาดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงกว่าโลกจริงมาก ก็เพราะมีผู้เล่นที่ซื้อขายล่วงหน้า ถ้าเก็งกำไรถูกทาง จะสามารถได้ผลตอบแทนจากสัญญาอนุพันธ์ที่สูงหลายเท่า
จึงพร้อมที่จะขอยืมคอยน์ไปใช้เก็งกำไร ถึงแม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงก็คุ้ม
แต่ในอนาคต เมื่อแพลตฟอร์มซื้อขายแบบอัตโนมัติ ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎใหม่ได้ ปริมาณธุรกิจอาจจะน้อยลง
เมื่อนั้น ก็อาจจะกระทบคอยน์ที่สนับสนุนธุรกรรมภายในโลกคริปโทเหล่านี้
ถามว่า จะกระทบคอยน์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เช่น บิตคอยน์/ อีธีเรียม อย่างไร?
ผลกระทบจะกลับเป็นบวก
เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการกำกับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อันเป็นการยืนยันว่า คอยน์ประเภทนี้ ได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว
จุดเปลี่ยนแปลงก็คือ กฎหมายฉบับนี้ เป็นการยอมรับเงินคริปโท ว่าเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่ถูกกฎหมาย
เป็นสินทรัพย์ที่เสมอภาคกับสินทรัพย์จริงต่างๆ ไม่ว่า หุ้น สกุลเงิน ทองคำ
เพียงแต่นักลงทุนจะต้องเลือกคอยน์ และแพลตฟอร์ม ที่ไม่มีปัญหาในการจัดทำรายงานเป็นสำคัญ
และเมื่อสหรัฐออกกฎเช่นนี้ ต่อไปก็น่าจะลามไปประเทศอื่นๆ
ถือได้ว่า เป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญของโลกเงินคริปโท