สำนักงบฯ ย้ำงบบูรณาการ EEC ต้องเข้มข้นหลังรายได้ประเทศลด

19 พ.ย. 2564 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 16:27 น.

ผอ.สำนักงบ รับรายได้ประเทศลด ขาดดุลงบสูง ส่งผลคาดเดางบฯรายจ่ายปี 66 ยาก ย้ำการจัดทำแผนใช้งบบูรณาการอีอีซี ปี 65 ยังต้องเข้มข้น โดยเฉพาะการใช้เงินนอกงบประมาณ

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  บรรยายพิเศษ “การจัดทำงบบูรณาการจากประสบการณ์ อีอีซี”  เปิดประสบการณ์งบบูรณาการ อีอีซี ปัจจัยความสำเร็จของแผนงาน บูรณาการเพื่อพัฒนาประเทศ  ในงาน เสวนา  “เปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบแผนงานบูรณาการ สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเนชั่นทีวี โดยกล่าวว่า ขณะนี้รายได้ของประเทศลดลง การขาดดุลสูง ทำให้ยังไม่สามารถคาดเดากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ได้ แต่ในปีงบประมาณรายจ่าย 2565 งบประมาณได้ถูกปรับลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท หายไปจากปีงบฯ 64 ที่มีงบประมาณที่ 3.28 ล้านล้านบาท หรือหายไปประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

 

ดังนั้นในการจัดทำงบบูรณาการพัฒนาพื้นที่ EEC ในปีงบประมาณ 2566 จะยังคงมีความเข้มข้นมากเหมือนเดิม โดยเฉพาะการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งจะต้องเสนอรายละเอียดคำขอเบื้องต้นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบุคลากรภาครัฐ มายังสำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2564

สำนักงบฯ ย้ำงบบูรณาการ EEC ต้องเข้มข้นหลังรายได้ประเทศลด

 

โดยหน่วยรับงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ จะต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในวันที่ 11 มกราคม 2565 ซึ่งหากงบที่ขอจัดสรรมีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ให้ทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตด้วย รวมทั้งต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ประกอบเอกสารที่ยื่นของบมาด้วย

 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่ ปี 2561 เป็นต้นมา การจัดทำงบบูรณาการ EEC ทำให้การจัดทำงบประมาณและแผนในการพัฒนาพื้นที่ EEC มีความชัดเจนมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานและการใช้งบประมาณ และยังตอบโจทย์แผนเป้าหมาย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และที่สำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านขีดความสามารถทางการแข่งขัน  และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13