"ทรู-ดีแทค ควบรวม" จับตาบทบาท กสทช.คุมเกม

22 พ.ย. 2564 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 17:07 น.

ทรู-ดีแทค ควบรวม สะเทือนธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมไทย โบรกฯมองภาพธุรกิจแข่งขันน้อยลง จากผู้เล่นที่เหลือเพียง 2 ราย เกิดฮั้วโดยธรรมชาติ จับตาบทบาท "กสทช." คุมเกมดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภค

ภายหลังจากคณะกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) อนุมัติให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการขั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมบริษัทกัน ภายใต้โครงสร้างจำนวนหุ้นบริษัทใหม่ที่ 138,102 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการแปลงหุ้น DTAC เดิม สัดส่วน 1 หุ้น DTAC : 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้น TRUE เดิม สัดส่วน 1 TRUE : 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ 

 

ภายใต้สัดส่วนดังกล่าว หลังรวมผู้ถือหุ้น DTAC และ TRUE จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สัดส่วน 42.1% และ 57.9%  โดยการควบรวมจะเกิดขึ้นหลังจากดำเนินตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม คือ Telenor และกลุ่ม CP จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ "บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด  ( Citrine Global) "  เพื่อทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจจาก DTAC และ TRUE ที่ราคาหุ้นละ 47.76 และ 5.09 บาทตามลำดับ

 

จับตาบทบาท กสทช.คุมเกม

 

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หากดีลควบรวมสำเร็จ ภาพอุตสาหกรรมค่ายมือถือจะเหลือเพียงผู้เล่น  2 ราย  เชื่อว่าการแข่งขันจากนี้จะไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เนื่องจากทั้ง 2 รายจะมีฐานรายได้และส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน 50 : 50 จึงไม่น่าจะมีแรงจูงใจให้มีการแข่งขันรุนแรง  แต่จะเกิดการฮั้วโดยธรรมชาติ
 

"หลังการควบรวม ภาพรวมอุตสาหกรรมฯจะเข้าสู่จุดสมดุลของการแข่งขันมากขึ้น  ต่อไปของดีราคาถูก อาจจะไม่มี แต่จะเป็น "ของดีราคาเหมาะสม" ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ เพียงแค่ไม่ลดราคา ก็มีกำไรเพิ่มมหาศาล เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ทมากขึ้น ผลจากการแข่งขันน้อยลง ยังส่งผลเสียต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรม ส่วนผลบวกจากควบรวมทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ใช้บริการ จะได้บริการดีขึ้นจากจำนวนคลื่นความถี่สองรายที่รวมกัน"  นายพิสุทธิ์  กล่าวและว่า

 

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูบทบาทของกสทช. ว่าจะมีการออกกฎเพื่อมาดูแล ไม่ให้ผู้เล่นในตลาด ที่ในอนาคตจะเหลือแค่ 2 ราย มีอำนาจเหนือผู้บริโภค ในเรื่องของการทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค การตรวจสอบการให้บริการและคุณภาพ เพื่อไม่ให้ผู้เล่นเอาเปรียบผู้บริโภค

 

ทรูควบดีแทค เสริมจุดแข็งลบจุดอ่อน

 

ด้านนายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส จำกัด ให้ความเห็นว่าการดำเนินธุรกรรมควบรวมบริษัทดังกล่าว ถือเป็นบวกในมุมธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการสร้างประโยชน์ต่อทั้ง DTAC และ TRUE ช่วยปิดจุดอ่อนแต่ละฝ่าย โดย DTAC คือ บริการ 5G ที่ปัจจุบันยังขาดคลื่นความถี่ช่วงกลางอยู่ระหว่างรอประมูลคลื่น 3500 MHz แต่กำหนดการยังมีความไม่แน่นอน บวกกับฐานลูกค้าธุรกิจที่จะเป็นส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการ 5G ยังมีน้อยและขยายช้ากว่าคู่แข่ง   ส่วน TRUE มีจุดแข็ง คือ มีคลื่นความถี่ 5G ช่วงกลางพร้อมให้บริการ และมีฐานลูกค้าธุรกิจหลากหลายทั้งในกลุ่ม CP ผู้ถือหุ้นและพันธมิตรโดยรอบช่วยต่อยอด ส่วนจุดอ่อนคือในด้านภาระหนี้สินที่สูง และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่ครอบคลุมงบลงทุนในแต่ละปี 
 

ตรงข้ามกับ DTAC ที่มีจุดแข็งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความสม่ำเสมอการรวมธุรกิจกัน จะช่วยเรื่องฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น ต้นทุนที่ลดลง ช่วยในเรื่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้สูงพอลงทุนแต่ละปีและทยอยลดภาระหนี้ในลำดับถัดไป

ลดต้นทุนหมื่นล้านต่อปี

 

ด้านภาพรวมของธุรกิจ ภายหลังการควบรวมจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับที่ 1 หากอิงขนาดรายได้, ลูกค้า 51.28 ล้านราย เทียบ ADVANC ที่มี 43.44 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาด (รายได้) 54.4% เทียบ ADVANC ที่ 45.6% มีรายได้ Synergy บริษัทใหม่ที่คาดหวังได้หลักๆ ประเมินที่ต้นทุน คือ การลดภาระต้นทุนที่มีความซับซ้อนกัน โดยประเมินต้นทุน DTAC+TRUE หากเทียบส่วนที่จะลดลงได้ อิงกับต้นทุน ADVANC จะมี Upside คาดหวังได้ลดลงอย่างน้อย 15% เทียบกับกรณีไม่รวมธุรกิจ ประเมินทุกๆ 5% ที่ลดลงได้ จะคิดเป็นต้นทุนลดลงปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท


นอกจากนี้ ประหยัดงบลงทุน (CAPEX) เมื่อรวมธุรกิจกัน เฉพาอย่างยิ่งในส่วน 5G ที่ต้องใช้เม็ดลงทุนสูง+ต่อเนื่อง รองรับ Use Case ในอนาคต อาทิ Internet of Things (IoTs), ระบบอัตโนมัติต่างๆ, Metaverse หากเทียบ CAPEX ของ DTAC กับ TRUE ที่แยกกันลงทุนสูงปีละ 40,000 ล้านบาท เทียบกับADVANC ปีละ 27,500 ล้านบาท CAPEX เมื่อรวมธุรกิจกันคาดลดลงอย่างน้อยปีละ 10,000 ล้านบาท

 

ขณะที่บล.โนมูระพัฒนสิน จำกัด มองสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมในครั้งนี้ 2 ส่วนหลัก คือ ระดับบริษัท (DTAC,TRUE) จะได้ประโยชน์ในเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งขึ้นทั้งส่วนแบ่งตลาด และคลื่นความถี่สั้น-กลางจะขยับเป็นเบอร์หนึ่ง ทำให้บริษัทใหม่มีข้อได้เปรียบในการลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนระดับอุตสาหกรรม (ADVANC, DTAC, TRUE) ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดลดลง ผลักดันแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาทั้งการออกโปรโมชั่นหรือการประมูลคลื่นในอนาคตจะลดลง