นายซิกเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์ กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์วันนี้ (22 พ.ย.) เกี่ยวกับแผนความร่วมมือกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในประเทศไทย โดยเขาเปิดประเด็นว่า
เป็นเกียรติมากที่ได้กลับมาไทยอีกครั้งและได้แถลงข่าวร่วมกับนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ความร่วมมือกับทรู ถือเป็น การผนึกกำลังวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Equal Partnership และจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมี Equal Ownership หรือการเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเท่าเทียม
แรงผลักดันนั้นมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบทบาทที่สำคัญ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนามการแข่งขันของธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง บริษัทผู้ให้บริการต้องปรับตัวเพื่อสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การสื่อสารและบริการที่ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีการ digitalization of business หรือ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ หรือกระบวนการทำงานภายในที่ส่งผลให้เกิดโอกาสสร้างรายได้ผ่านช่องทางใหม่ๆรวมถึงโอกาสในการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ
สมรภูมิแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้บริหารของเทเลนอร์ขยายภาพเพิ่มเติมว่า แผนการความร่วมมือที่เป็นความริเริ่มใหม่นี้เป็นการนำดิจิทัลเซอร์วิสที่แตกต่างไปจากในอดีตสู่ประเทศไทย ซึ่งดีแทคเองดำเนินธุรกิจในไทยมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มากันตลอดในฐานะผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมของไทย ทั้งกับทรูและเอไอเอส ที่เขาเรียกว่า “บิ๊กบราเธอร์” หรือ “พี่ใหญ่” ในประเทศไทย ทุกค่ายต่างนำบริการการสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่มาสู่คนไทย แต่ใน 20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้บริการที่นำเสนอและรูปแบบการดำเนินธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เทคโนโลยีใหม่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีคลาวด์ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็น พายุใหญ่ (Perfect Storm) ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง “เทคโนโลยีเหล่านี้คือพายุลูกใหญ่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของเราทั้งหมด ทำให้เราต้องยกระดับการแข่งขันสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า” เบรกเกกล่าวและว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยนั้น พร้อมที่จะก้าวสู่อนาคตแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว
นอกจากนี้ การจัดตั้งบริษัทใหม่ในรูปแบบ Equal Partnership กับทรูที่ประกาศก้าวแรกอย่างเป็นทางการในวันนี้ (22 พ.ย.) จะเป็นการนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดของดีแทคและของทรูมาบุกฝ่าความท้าทายแห่งโลกอนาคต “เราจะแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยีและการให้บริการ”
ทั้งนี้ บริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบบริษัทนี้ จะเป็นบริษัทที่ใหญ่มากมีรายได้ 2 แสนกว่าล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้กว่า 40% ซึ่งเทียบเท่ากับเอไอเอส แต่ถึงอย่างไรเขามองว่า เอไอเอสยังจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่อยู่
เบรคเกยอมรับว่าในการสร้างอีโคซิสเต็มหรือ ระบบนิเวศของธุรกิจที่แวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคตนั้น ต้องใช้ทุนมหาศาล ดังนั้น ดีแทคและทรูจะร่วมกันระดมทุนมาสรรค์สร้างอีโอคซิสเต็มนี้ โดยเบื้องต้นจะลงขันกันราว 200 ล้านดอลลาร์ตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ สร้างระบบนิเวศที่จะสอดรับกับสิ่งรัฐบาลไทยทำในยุทธศาสตร์ 4.0
“ การหารือจะใช้เวลาอีกหลายเดือน เป็นการประกาศว่าทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันในหลายเงื่อนไข ขั้นตอนต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบกิจการของแต่ละบริษัท โดยคาดว่าจะจบในไตรมาสแรกของปีหน้า (2565) จากนั้นจะมีการลงนามในสัญญาที่มีผลตามกฎหมาย แล้วเข้าสู่กระบวนการตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากนั้นก็พร้อมรวมกิจการทั้งสองเข้าด้วยกัน”