เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจสื่อสารอีกครั้ง หลังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน)หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ DTAC ประกาศอยู่ระหว่างดำเนินการควบรวมบริษัทกัน โดย DTAC และ TRUE จะถือหุ้นในบริษัทใหม่สัดส่วน 42.1% และ 57.9% และการควบรวมจะเกิดขึ้น หลังจากดำเนินตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสำเร็จ และจะทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจ DTAC และ TRUE ที่ราคาหุ้นละ 47.76 และ 5.09 บาท
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (15-22 พฤศิกายน 2564)พบว่า ราคาหุ้นของ TRUE ปรับเพิ่มขึ้น 5 วัน มีเพียง 1 วันที่ราคาลดลง โดยเพิ่มขึ้นรวม 0.98 บาท หรือ 25.92% ส่วน DTAC ปรับเพิ่มขึ้น 6 วันต่อเนื่องรวม 9.25 บาท หรือ 25.87% เมื่อเทียบกับต้นปีถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 หุ้น TRUE เพิ่มขึ้น 1.32 บาท หรือ 38.37% ส่วน DTAC เพิ่มขึ้น 11.75 บาท หรือ 35.33%
ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 TRUE อยู่ที่ 158,832.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44,046.02 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 114,786.59 ล้านบาท และระหว่าง 15-22 พฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 32,700.83 ล้านบาท ส่วน DTAC อยู่ที่ 106,551.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,821.78 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 78,729.72 ล้านบาท และช่วง 15-22 พฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 21,902.26 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากนำมาร์เก็ตแคป TRUE และ DTAC รวมกันจะอยู่ที่ 206,384.11 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 19 จากปัจจุบัน TRUE อยู่อันดับที่ 30 และ DTAC อยู่อันดับที่ 46
ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มสื่อสารอันดับ 1 คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ราคาปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยวันที่ 22 พฤศจิกายน ปิดที่ 209.00 บาท เพิ่มขึ้น 13.00 บาท หรือ 6.63% มูลค่าซื้อขาย 7,247.58 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก TRUE มาร์เก็ตแคปล่าสุดอยู่ที่ 621,550.49 ล้านบาทสูงสุดเป็นอันดับ 3 เพิ่มขึ้น 98,204.93 ล้านบาทจากสิ้นปี 2563
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC สำเร็จแล้ว จะส่งผลดีต่อทั้งสองบริษัท โดยเฉพาะต้นทุนการลงทุนที่ลดลง เพราะปัจจุบันการลงทุนขยายโครงข่ายใช้งบที่ค่อนข้างสูง หากร่วมกันลงทุนจะสามารถประหยัดได้ถึงปีละ 10,000 ล้านบาท ส่วนฐานลูกค้าจะเพิ่มมากขึ้น อาจใกล้เคียงกับ ADVANC แต่ในเชิงรายได้อาจจะใกล้เคียงหรือน้อยกว่าเล็กน้อย เพราะ ADVANC มีรายได้คงที่อยู่แล้ว
นอกจากนั้นยังทำให้ภาระหนี้ที่สูงของ TRUE ลดลง จากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท หากควบรวม 2 บริษัท และจัดตั้งบริษัทใหม่ จะมีต้นทุนต่ำกว่าการเป็นทรูเดิม รวมถึงความเสี่ยงลดลงตาม แต่ยังต้องติดตามการอนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งยังต้องใช้เวลาพอสมควร อาจจะมีการแข่งขันในช่วงก่อนควบรวม เพราะหากควบรวมสำเร็จ การแข่งขันจะลดลง
“ทิศทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะลดลง ทั้งการออกโปรโมชั่น รวมถึงการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในอนาคต เพราะเหลือเพียง 2 ราย ทำให้กสทช.อาจต้องมีหลักเกณฑ์ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน เพื่อไม่ให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะมีโอกาสสูงที่จะมีการเจรจามากกว่าการประมูล ต้องรอดูว่า กสทช.จะมีคำสั่งออกมาก่อนปิดดีลนี้ในลักษณะไหน ส่วนลูกค้า อาจไม่มีโปรโมชั่นที่พิเศษมากเหมือนแต่ก่อน แต่หากมีเจ้าไหนพลาด ก็เป็นไปได้ที่จะมีการแย่งลูกค้าเกิดขึ้น”นายกิจพณกล่าว
ด้านบล.โนมูระพัฒนสิน จำกัด ระบุว่า ผลบวกที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมครั้งนี้ ระดับบริษัทคือ DTACและTRUE จะได้ประโยชน์ในเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งขึ้นทั้งมาร์เก็ตแชร์และคลื่นความถี่สั้น-กลางจะขยับเป็นเบอร์หนึ่ง ทำให้บริษัทใหม่มีข้อได้เปรียบในการลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนระดับอุตสาหกรรม ADVANC, DTAC และ TRUE ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดลดลง ผลักดันแนวโน้มการแข่งขันด้านราคา ทั้งการออกโปรโมชั่น หรือการประมูลคลื่นในอนาคตจะลดลง
ทั้งนี้ ยังมีโอกาสสูงที่จะให้ Upside ต่อประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้มีการปรับราคาเป้าหมายของกลุ่มขึ้น โดยการขยับ EV/EBITDA ขึ้น ยังคงคำแนะนำ “BULLISH” สำหรับกลุ่ม และยังคงเลือก ADVANC เป็นหุ้นเด่นกลุ่ม เพราะมองว่าจะได้อานิสงส์ทางอ้อมจากภาพรวมการแข่งขันที่มีแนวโน้มลดลง
ประกอบกับทิศทางรายได้ที่อยู่ในช่วงการฟื้นตัวทั้งจากธุรกิจมือถือและ S-curve ใหม่อย่าง 5G, Fibre , Enterprise and digital service รวมถึงเงินปันผลในช่วงครึ่งปีหลังอีก 2% และเก็งกำไร TRUE คาดมี Upside จากราคาเทนเดอร์ 5.09บาท หรือ 17.8% และ DTAC มี Upside จากราคาเทนเดอร์ 47.76 บาท หรือ 15.7%
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564