ผ่าอาณาจักร “ซีพี-กัลฟ์” เปิดศึก TECH COMPANY ชิงความเป็นผู้นำธุรกิจมือถือ

23 พ.ย. 2564 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2564 | 15:33 น.

ผ่าอาณาจักร “ซีพี-กัลฟ์” หลังมหาเศรษฐีสองค่ายขยายลงทุนบุกธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมสู้ศึก “TECH COMPANY”

ไม่เกินความคาดหมายเมื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ตกลงร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  รวมธุรกิจมือถือขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดด้วยจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 51.3 ล้านราย

 

เพราะในวงการโทรคมนาคมได้ลืออย่างต่อเนื่องกลุ่ม  TRUE ต้องการเป็นผู้นำตลาดมือถือในเมืองไทย ดังนั้นทางเดียวที่ทำได้ คือ ควบรวมกับ DTAC ครองเบอร์หนึ่งเต็มรูปแบบ

 

 

“ TRUE ด่วนสรุปธุรกิจกับ DTAC เพราะ AIS ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นจากเดิม เทมาเสกโฮลดิ้งส์ มาอยู่ในมือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของเสี่ยกลาง (นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของเมืองไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันถือหุ้นใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ  INTUCH จำนวนทั้งสิ้น 1,354.75 ล้านหุ้น คิดเป็น 42.45% ของหุ้นทั้งหมด โดย INTUCH  ถือหุ้นใหญ่ใน AIS นั้น จึงเป็นตัวเร่งที่ TRUE ต้องปิดดีลโดยเร็วที่สุด” แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

ผ่าโครงสร้าง GULF

โครงสร้างธุรกิจหลักของ GULF  แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Power Generation Business)
  • ธุรกิจก๊าซ (Gas Business)
  • ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Business)
  • ธุรกิจพลังงานน้ำ (Hydropower Business)
  • ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค (Infrastructure & Utilities Business)

 

ด้านสินทรัพย์ของ GULF ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/64 ดังนี้

  • สินทรัพย์รวม 355,187.73  ล้านบาท
  • หนี้สินรวม     255,804.15  ล้านบาท
  • รายได้รวม   34,665.84   ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ       4,626.87   ล้านบาท

 

งบการเงิน AIS

 

งบการเงินไตรมาส 3/64 ของ AIS  

  • สินทรัพย์รวม 356,520.80  ล้านบาท
  • หนี้สินรวม 281,677.93   ล้านบาท
  • รายได้รวม  132,020.10  ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ  20,058.77  ล้านบาท

จำนวนผู้ใช้บริการมือถือ

 

 

โครงสร้างเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP

 

สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ของ เจ้าสัวธินนท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของ เมืองไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 9.48 แสนล้านบาท

 

ธุรกิจในเครือซีพีมีดังนี้

  • ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร (ซีพีเอฟ)
  • ธุรกิจค้าปลีก (ซีพีออล์ แม็คโคร และ โลตัส)
  • กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม (ดำเนินการโดยบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ( ซีพีแลนด์) และ นิคมอุตสาหกรรม ในประเทศจีน มีบริษัท Shanghai Kinghill Limited พัฒนาศูนย์การค้าครบวงจร ‘Super Brand Mall’ และบริษัท Chia Tai Land Co., Ltd. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการที่ปรึกษา และการบริหารจัดการโครงการ
  • ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) 
  • ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ (บริษัท ไซโนไบโอฟาร์มา จำกัด)
  • อีคอมเมริซ์และธุรกิจดิจิทัล  (แอสเซนด์ กรุ๊ป)
  • การเงินและการธนาคาร (ลงทุนในต่างประเทศ จีน เซี่ยงไฮ้ และ ญี่ปุ่น)

 

อย่างไรก็ตามเมื่อพลิกไปดูผลการดำเนินงานของ CP ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 2,144,266 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้ แยกตามเขตประเทศและสายธุรกิจ

  • ประเทศไทย 49%
  • จีน 36%
  •  และอื่นๆ 15% 

 

สายธุรกิจ

 

  • 58% เกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร
  • 28% ค้าปลีก
  •  7% สื่อสารและโทรคมนาคม
  •  7% อื่นๆ

 

 

งบการเงินและผลประกอบการ TRUE ณ ไตรมาส 3/2564

 

  • สินทรัพย์รวม  621,777.35  ล้านบาท
  • หนี้สินรวม    539,941.01 ล้านบาท
  • รายได้รวม     103,177.24  ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ        -1,482.76   ล้านบาท

 

หลัง TRUE และ DTAC  บรรลุข้อตกลงประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company)

 

ขณะที่ AIS ก่อนหน้านี้ผนึกกับ SCB ตั้งบริษัทร่วมทุน เอไอเอสเอสซีบี ( AISCB) บุกธุรกิจการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไป

 

นับจากนี้ตลาดมือถือเหลือเพียง 2 ราย หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ AIS จากที่เคยเป็นผู้นำตลาดเริ่มขยับนำทัพพรีเซ็นเตอร์ออกมาพาเหรดชูจุดขายมีคลื่นความถี่มากที่สุด และ ที่ 1 ตัวจริง ต้องจับตาดูว่าเกมธุรกิจหลังจากนี้เป็นอย่างไรน่าติดตามยิ่ง.