นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรหารือร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อกำหนดความชัดเจน โดยเฉพาะวิธีการคำนวณ ก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี64 แต่ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของภาษีคริปโต และปีที่ผ่านมาก็มีการเสียภาษีแล้ว แต่ในปีภาษีนี้ได้มีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งภาษีคริปโตได้กำหนดไว้ในกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งแต่ ปี 2561 แล้ว
“ภาษีกำไรจากคริปโต ยังต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคำนวณภาษีที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าจะใช้รูปแบบไหน โดยมีการพิจารณาทั้ง 2 รูปแบบคือ คำนวณแบบกำไรขาเดียว หรือ แบบหักลบกลบ ซึ่งยังศึกษาอยู่ เพราะถ้าเป็นการเก็บแบบต่อครั้ง ก็จะไม่กระทบเพราะรายใหญ่รายเล็กเสียเหมือนกันหมด แต่ถ้าเก็บแบบ capital gain ก็จะกระทบรายใหญ่ เพราะมีการซื้อขายเยอะ ซึ่งทำได้ทั้ง 2 แบบ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้สรุป” นายอาคม กล่าว
ขณะที่ภาษีกำไรจากการขายหุ้น ได้มีการยกเว้นภาษีมา 30 ปีแล้ว ซึ่งประเทศที่มีการเก็บภาษีหุ้น หลายๆ ประเทศก็มีการจัดเก็บ ซึ่งมีทั้งรูปแบบ capital gain และ Transaction ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ แต่จะเก็บอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอเมริกามีการเก็บแบบ capital gain แม้จะมีความยุ่งยากมากกว่า แต่ข้อมูลจะรันเข้าระบบตลอดเวลาที่มีการซื้อขายกัน ซึ่งระบบข้อมูลสำคัญมาก
นายอาคม ยืนยันหลักการในการเก็บภาษี เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาค คนที่ใช้ทรัพยากร คนที่มีรายได้ก็มีหน้าในการเสียภาษี แต่ในการยกเว้นการจัดเก็บก็เพื่อช่วยลดต้นทุน ซึ่งต้นทุนจากภาษีไม่ใช่แค่ต้นทุนเดียว ยังมีต้นทุนค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเก็บจากนักลงทุนอยู่แล้ว
“การจัดเก็บภาษีหุ้นและคริปโต เป็นเรื่องของการขยายฐานภาษี เพราะไทยไม่ได้ขยายฐานภาษีมานาน ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ในการยื่นภาษี ถ้าประเมินแล้วรายได้ไม่ถึง ก็ไม่ต้องเสีย ดังนั้น ผู้ที่ค้าขาย เมื่อถึงเวลาก็จะต้องยื่นภาษี และอีกด้านคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ระบบออนไลน์ เมื่อเศรษฐกิจเติบโต การจัดเก็บรายได้ของรัฐเพื่อพัฒนาประเทศก็ควรเพิ่มขึ้นด้วย เพราะรายได้จากตัว GDP ของไทยขยับขึ้นตลอด แต่รายได้จากการจัดเก็บภาษีไม่ได้เพิ่มมากเท่าที่ควร เพราะส่วนหนึ่งเรามีการยกเว้นการจัดเก็บเยอะ เพื่อต้องการสนับสนุน แต่เมื่อถึงเวลาเมื่อธุรกิจหรือภาคส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อยืนได้ด้วยตัวเอง หรือแข่งขันกับต่างประเทศได้ การสนับสนุนก็ควรลดน้อยลง” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวด้วยว่า ประเทศจำเป็นต้องใช้เงินในการพัฒนาอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายฐานผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นประเด็นของภูมิภาคของโลก ทำให้หลายๆประเทศมีนโยบายคล้ายๆ กัน คือการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี และเป็นประเด็นหลักใน OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้มีความไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศที่ยากจนและร่ำรวย มีเรื่องของการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งก็จะต้องร่วมกันป้องกันเรื่องของการหลบเลี่ยงภาษีด้วย
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินคริปโต ไม่เหมือนกับเงินดอลลาร์ เงินเยน หรือ เงินบาท ที่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานเข้าไปคอยกำกับดูแล เข้าไปค้ำประกันไม่ให้ล้ม หรือเกิดความเสียหาย แต่คริปโตเป็นเงินขององค์กร ซึ่งการที่กรมสรรพากรเข้ามาจัดเก็บภาษีตามกฎหมาย เหมือนการเข้าไปดูการซื้อขาย หรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการจัดเก็บภาษี ก็ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับภาษีหุ้นที่รัฐบาลได้ยกเว้นมาหลาย 10 ปี ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดเก็บ
“ไม่ได้เกี่ยวว่ารัฐบาลไม่มีเงิน รัฐบาลยังมีเงิน แต่การจัดเก็บภาษี เป็นการทำเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งภาคการเงิน ถือเป็นภาคของคนอีกกลุ่มหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง ไม่งั้นคนรวยก็รวย ถึงเวลาอาจหายไปไหนก็ได้ แล้วกลายมาเป็นรัฐบาลต้องเข้าไปเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ” นายสันติ กล่าว
นายสันติ ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของกรมสรรพากร เพราะเป็นการทำหน้าที่ภายใต้ความถูกต้องและภายใต้กฎหมาย และการเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนทุกกลุ่ม ขณะที่การจัดเก็บภาษีคริปโต ก็เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายเช่นกัน
“อย่ามาโจมตีกัน หากกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ทำหน้าที่ในการเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาก็ต้องสนับสนุน ให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษี ส่วนการตรวจสอบรัฐ คือ การตรวจสอบว่าเงินจากการจัดเก็บภาษีมีการเบียดบังหรือหลบเลี่ยง ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ ช่วยกันปกป้อง แต่หากภาษีที่จัดเก็บมีการนำเข้าระบบถูกต้อง มีการนำไปพัฒนาต่อ ก็ควรช่วยกันสนับสนุน” นายสันติ กล่าว