ธปท.หนุนแบงก์ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนสางหนี้NPL-NPA

27 ม.ค. 2565 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2565 | 17:40 น.

ธปท.คลอดเกณฑ์ตั้งกิจการร่วมทุนระหว่างแบงก์พาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ยื่นขอจัดตั้งภายในปี2567 หรือภายใน3ปี พร้อมกำหนดอายุดำเนินกิจการ 15 ปี ย้ำให้ความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ต่อให้กับลูกหนี้ด้วยคุณภาพที่รับโอนมาด้วย

 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายลง รวมถึงการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจากสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังเปราะบางและต้องใช้เวลา

 

ธปท.หนุนแบงก์ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนสางหนี้NPL-NPA

 

 

 

 

แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะยังแข็งแกร่ง ทั้งด้านเงินกองทุน สภาพคล่อง และเงินสำรองอยู่ในระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือในปัจจุบันทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพจะไม่เร่งตัวขึ้นเร็ว แต่เพื่อรองรับความไม่แน่นอนและดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากมาตรการทางการเงินที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ธปท. ยังเห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงินเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

จึงมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) ได้ ในระยะเวลาที่กำหนด กล่าวคือ ให้ระยะเวลา 3 ปี ในการยื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุน และมีระยะเวลา 15 ปีในการดำเนินกิจการร่วมทุนนี้ โดยในการดำเนินการ จะต้องให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อให้กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาด้วย

 

ธปท. หวังว่า มาตรการข้างต้น จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัทบริหารสินทรัพย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีทรัพยากรเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ ด้วยกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จะดำเนินต่อเนื่องให้แก่ลูกหนี้ จะส่งผลให้ลูกหนี้ยังมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือและไม่ถูกเร่งรัดให้จำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อเนื่องไปได้