เคาะแล้ว สรรพากร ออก 3 แนวทาง ผ่อนปรนภาษีคริปโต

28 ม.ค. 2565 | 10:14 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 17:26 น.

สรรพากร ออก 3 แนวทางผ่อนปรนคำนวนภาษีคริปโต ให้ใช้ผลขาดทุนหักกลบกำไรได้ เว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย - เว้น VAT ย้ำเงื่อนไขสำคัญ ต้องเทรดผ่าน Exchange ภายใต้กำกับ ก.ล.ต. เท่านั้น พร้อมเตรียมเผยแพร่คู่มือเสียภาษี 31 ม.ค.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้เปิดเผยผลสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ว่า กรมสรรพากรได้มีแนวทางผ่อนปรนในเรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีเงื่อนไขคือ ต้องมีการซื้อขาย หรือ เทรด กับผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น ได้แก่  

 

1.การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน

2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย จะถือว่าไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกันจะมีการออกคู่มือสำหรับการเสียภาษี ที่ระบุรายละเอียดชัดเจน ทั้งประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร  รายได้จากการโอน ผลประโยชน์อันใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล การคำนวณต้นทุน ที่ทำได้ 2 แนวทาง คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้ รวมถึงการวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา สำหรับคู่มือดังกล่าวจะเริ่มเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 นี้

 

“สาเหตุที่ให้ Exchange ที่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต. เท่านั้น เพราะถือเป็นคนที่อยู่ในกฎระเบียบ ก็ควรจะได้ประโยชน์ เพราะข้อมูลต่างๆ ก.ล.ต. สามารถประสานในฐานะผู้กำกับดูแลได้ ซึ่งในต่างประเทศในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล จะมีทั้งแบบให้หักกลบและไม่ให้หักกลบ ซึ่งไทยเลือกแนวทางภายใต้กฎหมายปัจจุบันให้หักกลบเฉพาะ Exchange ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ดังนั้นจึงไม่ได้ให้เป็นการทั่วไป” นายเอกนิติ กล่าว

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า กรมสรรพากร ยังเดินหน้าหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์

 

ทั้งนี้ พบว่า การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท  มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 170,000 ราย เป็น 1,980,000 ราย ซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง