นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) เพื่อบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) โดยระบุว่า BAM อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธนาคาร 6 แห่ง และเอเอ็มซี อีก 1 แห่ง โดยขั้นตอนจะพยายามเจรจาให้ใด้ข้อสรุปภายในครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนตัวอยากเห็น การจัดตั้ง บริษัทกิจการร่วมทุนหรือเป็น JV รายแรก โดย BAM สามารถจัดตั้งบริษัทได้มากกว่า 1 แห่ง
"การเตรียมตัวเรื่อง JV ทั้งเรื่องระบบของเรา แม้กระทั่งการเซ็น MOU กับบริษัท ไปรษณีไทย จำกัด เป็นการรองรับเอ็นพีแอล ที่ธนาคารจะนำออกมาขายในปลายปีนี้และปีหน้า เพราะมาตรการของธปท.จะหมดในปีหน้า ซึ่ง BAM มีความพร้อมคงไม่ต้องเพิ่มทุนเพื่อจัดตั้ง JV เนื่องจาก JV ใช้เงินไม่มากในการซื้อทรัพย์สินมาบริหารจัดการ"นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทใหม่ จะร่วมกันถือหุ้นคนละครึ่ง 50% ส่วนเรื่องทุนจดทะเบียนขึ้นอยู่กับธนาคารที่เข้าร่วมทุนจะรับความเสี่ยงได้เท่าไร สมมติลงทุน 2,000 ล้านบาท (BAM: พันธมิตรลงทุนเท่ากัน 1,000 ล้านบาท ถ้าปล่อยกู้ 7 เท่า สามารถซื้อทรัพย์สินได้ 1.4 หมื่นล้านบาท ถ้า 5 รายรวมมูลค่าเอ็นพีแอลที่ซื้อเข้ามาเป็นหลักแสนล้านบาท
ปีหน้าอาจจะมีเอ็นพีแอลไหลออกมาสู่ระบบประมาณ 2-3 แสนล้านบาท แต่ไม่แน่ใจว่า ธนาคารจะขายออกมา หรืออาจจะออกมาใน JC ซึ่งการจัดตั้ง JC ทาง JC จะขายเอ็นพีแอลและทรัพย์สินรอการขาย(NPA) ออกมาให้ธนาคารบริหาร ซึ่ง BAM รับซื้อทั้งพอร์ตและดูทุกประเภท สินเชื่อบ้าน โรงงานอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี โดยธนาคาต้องจัดพอร์ตให้ BAM ประเมินราคามารับซื้อที่ธนาคารยอมรับกันได้
อย่างไรก็ตาม BAM มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ระหว่างปี 2565-2566 ตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทไว้ก่อนแล้ว ส่วนระยะเวลาในการออกหุ้นกู้นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ดอกเบี้ย โดยที่ผ่านมาการออกหุ้นกู้มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ย 3%ต่อปี
ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมของ BAM ก็ยังคงดำเนินอยู่ โดยรับซื้อทั้งเอ็นพีแอลและ NPA จากการขายประมูลขายทอดตลาดของธนาคาร และการรับซื้อหนี้จากระบบปกติด้วย โดยปีตั้งเป้ารับซื้อหนี้ 9,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านสามารถรับซื้อหนี้ได้ทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน BAM มี NPA) ทุกประเภท ทั้งที่ดินเปล่า บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ อาคารชุด หลากหลายทำเลครอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย มากกว่า 20,000 รายการ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท การบริหารจัดการ NPA มีนโยบายมุ่งเน้นในการฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสอง ให้มีคุณภาพ พร้อมจำหน่ายในราคายุติธรรม โดยมีสำนักงานของ BAM จำนวน 26 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายแบบครบวงจร
เริ่มตั้งแต่ ออกสำรวจทรัพย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ปักป้ายแสดงกรรมสิทธิ์ ทำทะเบียนทรัพย์ ประเมินความจำเป็นในการปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินเพื่อให้พร้อมขาย ซึ่งการเดินทางเข้าไปสำรวจทรัพย์ในบางพื้นที่อาจต้องใช้เวลาในการเดินทาง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะ การสำรวจทรัพย์ซึ่งกระจายอยู่ทุกทำเลทั่วประเทศ และ BAM ต้องมีการออกสำรวจตรวจสอบทรัพย์สินรอการขายดังกล่าวทุก 3 เดือน BAM
ล่าสุด BAM ได้บันทึกข้อตกลง(MOU)ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท.) ซึ่งมีประสบการณ์ มีความชำนาญในการเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วเมืองไทย โดยปณท.จะให้บริการด้านการสำรวจ ดูแลและตรวจสภาพทรัพย์ของ BAM ทั่วประเทศ ช่วยให้ BAM สามารถลดขั้นตอนเวลาการทำงาน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินให้มีศักยภาพ และหมุนรอบการขายทรัพย์ได้เร็วขึ้น รวมถึง BAM ยังใช้บริการงานด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผ่านสื่อ ต่างๆ ทั้ง Online และ Offline ของไปรษณีย์ไทย
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ไปรษณีย์ไทยมีความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินงานของ BAM อย่างเต็มที่ ซึ่งได้ใช้ความพร้อมด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศมากกว่า 10,000 แห่ง ประกอบกับศักยภาพของบุคลากรเครือข่ายพนักงานไปรษณีย์(บุรุษไปรษณีย์) กว่า 20,000 คน ที่มีความเชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริง และเข้าถึงในทุกพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่สำรวจสินทรัพย์ของ BAM ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมไปถึงความร่วมมือในด้านการประชาสัมพันธ์ทรัพย์สิน และกิจกรรมของ BAM ผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของไปรษณีย์ไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ BAM ด้วย