นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ จัดโดยธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) ว่า หลังก้าวเข้าสู่ปี 2565 พบสิ่งที่เป็นปัญหาระยะสั้น คือ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ โดยในส่วนของราคาน้ำมัน พบว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผลมาจากความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซีย ซึ่งสถานการณ์ก็ยังไม่จบลง ทำให้ราคาน้ำมันยังแกว่งตัวมีการปรับขึ้นลงในช่วงสั้นๆ
ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบต่อภาคการขนส่งที่จะส่งไปถึงผู้บริโภค โดยรักษาระดับราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ผ่านกลไลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ และมีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นมาตรการเสริม
“สาเหตุที่ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงที่ 3 บาทต่อลิตร จากอัตราที่จัดเก็บอยู่ที่ 5 บาทกว่า/ลิตรนั้น เพราะการใช้มาตรการทางภาษีจะต้องคำนึงถึงการสูญเสียรายได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดทำงบประมาณประจำปีของรัฐบาลซึ่งจะมีเป้าหมายในเรื่องการจัดเก็บรายได้เข้ามาพิจารณาด้วย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาสมดุลของการใช้กลไกหลักของกองทุนน้ำมันฯ และการใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตน้ำมันเข้าไปเสริม อย่างไรก็ตามมองว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด” นายอาคม กล่าว
นายอาคม ยังกล่าวถึงแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ 4% ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ความยั่งยืนทางการคลัง และการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทย ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว และมีทิศทางที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลก ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของไทยจะต้องสอดประสานกัน และการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องมั่นใจแล้วว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องฟื้นตัวอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จำเป็นต้องมีการพิจารณานโยบายการคลังที่ยั่งยืน ที่จะต้องพิจารณาถึงเรื่องของการใช้จ่ายเงิน และการจัดหารายได้ หรือการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อถึงช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมรัฐบาลก็จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ
“หากมองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหรือเอเชียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันว่า โดยรัฐบาลก็ใช้จ่ายมากขึ้น ฉะนั้น การจัดเก็บรายได้ก็ต้องปรับตัวขึ้น ประเทศของเราก็เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าช่วงจังหวะที่เหมาะสมก็คงมีแนวนโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ” นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง เครื่องยนต์ใหม่ หรือ การพัฒนาพื้นที่ EEC ระยะ 2 ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา , การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาขนาดใหญ่แห่งที่ 2 รองจากสนามบินสุวรรณภูมิ , โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหล่มฉบังระยะที่ 3 และการมุ่งสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเกี่ยวโยงกับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ
ขณะที่เศรษฐกิจใหม่ หรือ Digital Economy หรือการนำดิจิทัลมาใช้ในภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มนำมาใช้ในช่วงที่เกิดโควิด-19 โดยเฉพาะการโอนเงินและยื่นชำระภาษี ที่มีการทำผ่านระบบดิจิทัล และโมบายแอปพลิเคชั่น ส่งผลให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ทั้งนี้เทคโนโลยี 5จี ไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ซึ่งเป็นข้อผูกพันที่ไทยต้องดำเนินการตามมติที่ประชุม COP26 ในการลดการปล่อยก๊าซ Co2 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยล่าสุดได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและศุลกากร เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย และรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมุ่งหาแหล่งพลังงานหมุนเวียน หรือ แหล่งพลังงานบริสุทธิเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านสุขภาพ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย มองว่าต้องมีการเชื่อมธุรกิจโรงพยาบาล การท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ และภาคการเงิน ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสถาบันการเงินและภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพราะโลกยุคใหม่ จะมีการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) และ แบบเพียร์ทูเพียร์ (peer-to-peer) โดยไม่ผ่านคนกลางเหมือนกับการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล และส่งเสริมการระดมทุน หรือ Venture Capital ทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่เข้าไปหล่อเลี้ยงทำให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจของสตาร์ทอัพไทยได้