บอร์ด PPP เคาะโครงการร่วมทุน รัฐ - เอกชน มูลค่า 1.12 ล้านล้าน

08 มี.ค. 2565 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 21:33 น.

ผอ.สคร. เผย บอร์ด PPP เห็นชอบการปรับแผนโครงการร่วมลงทุน รัฐ - เอกชน ปี 63 - 70 มูลค่าลงทุนรวม 1.12 ล้านล้านบาท พร้อมรับทราบการนำข้อตกลงคุณธรรม มาใช้กับโครงการ PPP 5 โครงการ ยกระดับความโปร่งใสในการคัดเลือกเอกชน

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 ให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน

 

โดยมีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งมีจำนวนโครงการอยู่ที่ 67 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 9.97 แสนล้านบาท

โดยโครงการที่ปรับเพิ่มส่วนใหญ่เป็นโครงการในกิจการจัดการน้ำเสีย กิจการท่าอากาศยาน และกิจการด้านการศึกษา พร้อมทั้งมอบหมาย ให้กระทรวงเจ้าสังกัด หน่วยงานเจ้าของโครงการ และ สคร. ทำหน้าที่เร่งรัดโครงการที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) มูลค่าลงทุนรวม 4.77 แสนล้านบาท ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ รวมถึงสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แผนร่วมลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้นด้วย

 

บอร์ด PPP เคาะโครงการร่วมทุน รัฐ - เอกชน มูลค่า 1.12 ล้านล้าน

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP รับทราบความคืบหน้าการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) มาใช้กับโครงการ PPP ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ในชั้นการคัดเลือกเอกชน

 

โดยปัจจุบันมีโครงการ PPP ที่เข้าข่ายดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรมจำนวน 5 โครงการ ได้แก่

1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

2) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก

3) โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

4) โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป ของ กนอ. 

5) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

 

โดยจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการ PPP รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น