3 ปัจจัย กดดันการลงทุนหุ้นไทยสัปดาห์นี้

14 มี.ค. 2565 | 13:09 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 20:10 น.

บล.พาย(pi) มองตลาดหุ้นยังกังวลสงครามรัสเซีย-ยูเครน จับตา 3 ปัจจัย ทั้งการประชุมเฟด 15-16 มี.ค.นี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ และยอดค้าปลีกสหรัฐ

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) พาย จำกัด (มหาชน)หรือ pi เปิดเผยว่า  ตลาดหุ้นยังคงกังวลกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยวันศุกร์ที่ผ่านตลาดหุ้น Dow Jones ปรับฐานลงราวๆ 0.7%  แม้ช่วงเปิดตลาดจะฟื้นตัวได้บ้าง หลังมีรายงานว่า ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียกล่าวว่า ตนเห็นความคืบหน้าในการเจรจากับยูเครน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัสเซียได้แจ้งตนมาว่า เจรจาเริ่มมีสัญญาณบวกและการเจรจามีขึ้นทุกวัน

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) พาย จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้น EU หลายประเทศปิดบวกได้และพบว่าสัญญาณของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 2 , 10 ชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย Vix Index ก็เช่นกัน ทองคำยังคงปรับฐาน และน้ำมันดิบ BRT ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 3.1% สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ว่าในภาพรวมนักลงทุนยังดูไม่ได้วิตกมากนักกับสถานการณ์ยูเครน - รัสเซีย หากนักลงทุนวิตกกับสถานการณ์จริงเชื่อว่าจะต้องเห็นทองคำปรับและ Vix Index ปรับขึ้นเด่นเช่นกัน

  • 3 ปัจจัย ลงทุนสัปดาห์นี้ 
  • ประชุม FED ในวันที่ 15-16 มี.ค. เป็นประเด็นที่นักลงทุนจะให้ความสำคัญเนื่องจากจะมีการเปิดเผยตัวเลขต่างๆ อาทิ GDP , เงินเฟ้อ , ดอกเบี้ยในระยะถัดไป อิงข้อมูลจาก CME FED WATCH คาดว่า ในการประชุมครั้งนี้จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% (95%) และอีก 5% มองว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม โดยความเห็นทั้งปี 2022 คาดดอกเบี้ยปลายปีจะอยู่ที่ 1.75 – 2.00%

 

ทั้งนี้เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีโอกาสที่ FED จะผ่อนคลายและหากผ่อนคลายมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ก็จะเป็นปัจจัย บวกต่อตลาดหุ้น หากผ่อนคลายกว่าที่ตลาดประเมินไว้มองกลุ่ม Growth Stock มีโอกาสกลับมาถูกเก็งกำไรได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ (KCE) อย่างไรก็ตามหากดูทิศทางดอกเบี้ย FED ยังเป็นลักษณะค่อยๆปรับขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น Value Play ยังเป็น Theme หลักในระยะกลาง

 

  • ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐในวันอังคาร Bloomberg คาดที่ 1%MoM เชื่อว่าตลาดอยากเห็นตัวเลขที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไปนัก

 

  • ยอดค้าปลีกสหรัฐในวันพุธ Bloomberg คาดที่ 0.4%MoM ประเมินคล้ายกันคือตลาดคงไม่ต้องการตัวเลขที่ร้อนแรงจนเกินไป

ดังนั้นสัปดาห์นี้ ปัจจัยในภาพรวมยังดูเป็นกลางมากกว่าคาด SET INDEX เคลื่อนไหวในกรอบ 1650 – 1680 โดยมองวิกฤตยูเครน รัสเซีย เป็นปัจจัยพิเศษที่ต้องจับตา หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อาทิ ความรุนแรงที่มากขึ้นก็อาจส่งผลให้ตลาดปรับฐานได้

 

  • กลยุทธ์การลงทุน

Domestic จะดูมีความน่าสนใจกว่าเมื่อพิจารณาทั้งผลกระทบจากยูเครน และรัสเซียที่จำกัดประกอบกับเป็น Value Play ที่สถิติช่วง FED ขึ้นดอกเบี้ยเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดี อาทิ

  • ค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMPRO)
  •  ร้านอาหาร (M MINT)
  •  ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK SCB)

 

แต่หากลงทุนระยะกลางแนะสะสมหุ้นที่มีน้ำมันเป็นต้นทุน อาทิ (SCC SCGP TOA) มองว่า ราคาปรับลงมาสะท้อนไปบางส่วนแล้ว

 

ICHI (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 13 บาท) คาดผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่งทั้ง YoY และ QoQ ใน 1Q22 และต่อเนื่องใน 2Q22 จากช่วงไฮซีซั่น ปัจจุบัน ICHI ซื้อขายเพียง 20xPE'22E ซึ่งถูกกว่าค่าเฉลี่ยซื้อขายในรอบ 5 ปีและต่ำกว่ากลุ่มเครื่องดื่ม

 

ADVANC (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 269 บาท) คาดรายได้กลุ่มลูกค้าองค์กรจะมีสัดส่วน 20% ของรายได้รวมภายในปี 2025 ขณะที่ผู้บริหารเชื่อว่ากลุ่มนี้จะมีส่วนแบ่ง 20% ของรายได้รวมภายในปี 2024 ต่างกันเล็กน้อยเพราะคาดว่าการแข่งขันจะสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า