นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึง ทางออก ทางรอดธุรกิจไทยหลังไฟสงคราม ภายในงานเสวนา THE BIG ISSUE 2022 : ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ ที่จัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ และ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ วิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะโควิด-19 ยังระบาดเยอะ ปัญหาซัพพลายเซนยังไม่จบ และมาเกิดสงครามรัสเซียยูเครนซ้ำอีก
อย่างไรก็ตามในสงครามรัสเซียยูเครน ไทยไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะมีการค้าขายกับรัสเซียไม่มาก แต่หากมองในแง่ของโอกาส ทั้งการเกิดขึ้นของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย ทำให้เกิดการจัดระเบียบโลกใหม่ ทำให้เห็นทั้งโลกพยายามสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและด้านอาหาร ซึ่งในด้านอาหาร ไทยถือเป็นจุดแข็ง และเป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกนำเข้าอาหารจากไทยมากขึ้น
และวิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้ภาคธุรกิจตระหนักว่า การพึ่งพาซัพพลายเซนหรือวัตถุจากต่างประเทศมากเกินไปก่อให้เกิดความเสี่ยง หรือ หากจำเป็นต้องพึ่งพาซัพพลายเซนจากต่างประเทศ ก็ต้องหาประเทศที่มีความความสุ่มเสี่ยงน้อย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาเพื่อลงทุนสร้างโรงงานผลิตซัพพลายเซน ดังนั้น หากรัฐบาลเร่งให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมก็จะช่วยดึงดูดโอกาสในส่วนตรงนี้เข้ามาในประเทศได้
“การที่ไทยไม่เลือกข้าง และเลือกที่จะอยู่ตรงกลาง ถือเป็นการเลือกที่ดีที่สุด เพียงแต่ยังมีความเสี่ยงในด้านของภูมิรัฐศาสตร์ ที่ไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานจากตะวันออกกลางค่อนข้างมาก ซึ่งอยู่ใกล้กับรัสเซีย ดังนั้นในวันนี้ในระดับนโยบายต้องเริ่มดูเรื่องของการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงาน และควรเร่งเรื่องของพลังงานทดแทนให้เร็วขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สภาพคล่องทั่วโลกมีสูงมาก โดยก่อนเกิดโควิด ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการทำคิวอี ที่แม้ขณะนี้สหรัฐจะหยุดทำคิวอีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดการสภาพคล่องหรือนำเงินออกจากระบบ
ขณะเดียวกันเงินทุนเริ่มไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ ตลาดทุนรัสเซีย รวมทั้งตลาดทุนของยุโรปเพราะมองว่าเป็นตลาดที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนมากที่สุด ดังนั้นเงินหรือสภาพคล่องในตลาดโลก จะมองหาตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโต
“ตลาดทุนไทยน่าสนใจของนักลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ และขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนในไทยก็มีความแข็งแกร่ง และดัชนีหุ้นไทยพึ่งขึ้นพ้น 1600 จุด ในขณะที่ตลาดอื่นฟื้นตัวพ้นจุดนี้ไปนานแล้ว ทำให้ดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทย” นายไพบูลย์ กล่าว
พร้อมฝากถึงรัฐบาล ให้เร่งผลักดัน และใช้โอกาสของตลาดทุนไทยในขณะนี้ ที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพไทย ได้เข้ามาระดมทุน ทั้งนี้ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ส่งแผนพัฒนาตลาดทุนไทยไปยังรัฐบาลแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อเร่งดำเนินการและร่วมผลักดันแผนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะหลายเรื่องต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในไม่กี่วัน เช่น การตั้งกองทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน SME หรือ สตาร์ทอัพไทย เป็นต้น
ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น นายไพบูลย์ ให้มุมมองว่า เฟดควรประกาศขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 64 หลังเห็นสัญญาเงินเฟ้อ ที่ปรับขึ้นในทุกหมวดสินค้ารวมถึงค่าเช่าบ้านและเฮลท์แคร์ ทำให้เมื่อมาประกาศขึ้นตอนนี้ จึงต้องปรับขึ้นแรง และยังมีประเด็นที่ต้องจับตาถึงระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะสามารถคุมภาวะเงินเฟ้อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมาจากราคาพลังงาน ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยทำให้ราคาพลังงานปรับลดลงได้ และมองการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการตรึงราคาหรืออุดหนุนราคาพลังงานนั้น รัฐบาลมาถูกทางแล้ว เพราะขณะนี้ความต้องการพลังงานยังสูง หากปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมได้
“มองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเงินเฟ้อถูกทางแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยทำให้ราคาพลังงานปรับลดลงได้ แต่อาจต้องทำมากขึ้นอีก อาจต้องมองไปถึงคนที่ใช้พลังงานจำนวนมาก เช่น พวกโรงงานต่างๆ ดังนั้นถ้าราคาพลังงานยังไม่ลง อย่าใช้นโยบายการเงิน เพราะอาจไม่มีประสิทธิภาพได้” นายไพบูลย์ กล่าว