ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ -วันนี้ตลาดตรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด นอกจากสถานการณ์ยูเครน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยระหว่างวันมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่า ไปทดสอบแนวต้านในโซน 33.70 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง กดดันโดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้จะมีโฟลว์ธุรกรรมปิดปีงบประมาณของทางญี่ปุ่น ทำให้มีโฟลว์ซื้อเงินเยนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง (สอดคล้องกับจังหวะทีเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าหนักแตะระดับกว่า 122 เยนต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย และเราเริ่มเห็น แรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้กับแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันและ 200 วัน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์
บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว จากความกังวลแนวโน้มสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจยืดเยื้อ ขณะเดียวกัน ที่ประชุม NATO ได้ข้อสรุปเตรียมเพิ่มกำลังทหารในยุโรปตะวันออกเพื่อรับมือภัยคุกคามจากรัสเซียและพร้อมที่จะเพิ่มการช่วยเหลือยูเครนไปพร้อมกับการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ท่าทีที่แข็งกร้าวของกลุ่มพันธมิตร NATO นั้นไม่ได้กดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงหนัก เนื่องจากบรรดากลุ่มประเทศยุโรปยังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
นอกจากนี้ การเจรจานิวเคลียร์ดีลกับอิหร่านที่มีความคืบหน้ามากขึ้นก็ช่วยลดความกังวลปัญหาขาดแคลนพลังงานจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ย่อตัวลงจากระดับ 122 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 118.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ซึ่งการย่อตัวลงของราคาน้ำมันได้ช่วยลดความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation ลงบ้าง
ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ตลาดจะยังคงกังวลสถานการณ์สงคราม แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเกิดภาวะ Stagflation ที่ลดลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมีนาคมปรับตัวสูงขึ้น ดีกว่าที่ตลาดคาด หนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.43%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -0.15% ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด จากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน BNP Paribas -2.2%, Santander -2.1% และ ING -1.8% ซึ่งเรามองว่า ความไม่แน่นอนของสงครามจะยังคงทำให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนสูง และแนะนำให้ผู้ลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาพรวมของตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 2.38% ต่อ เรามองว่า แม้ในระยะสั้นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะยังคงผันผวนและแกว่งตัวในกรอบ sideways แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคม ที่เราประเมินว่า อาจจะสามารถเห็นจุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ในปีนี้ได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideways โดยมีทั้งจังหวะแข็งค่าและอ่อนค่าลง ตามบรรยากาศในตลาดการเงิน ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 98.73 จุด
ที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ซึ่งได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงคราม หนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้าน สู่ระดับ 1,961 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ บรรดาประเทศฝั่งตะวันตกประกาศมาตการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจนทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงหนัก ก็มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
ในทางกลับกัน หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงและตลาดเปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำกลับมาในโซน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก
สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึง ผลการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ,พันธมิตร NATO, กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึง กลุ่มประเทศ G7 ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ John Williams, Christopher Waller เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟด หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม
ทั้งนี้ ตลาดอาจรอจับตามุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อประเด็นการปรับลดงบดุล ซึ่งเฟดไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากนักในการประชุมเฟดล่าสุด โดยเรามองว่า ประเด็นการปรับลดงบดุลอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้มากกว่าทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.50-33.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ ที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามการปรับโพสิชันของนักลงทุน ประกอบกับน่าจะมีอานิสงส์เพิ่มเติมบางส่วนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามและประเมินสัญญาณตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.40-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน