“ซีอีโอไทยพาณิชย์” หวังผู้นำประเทศต้องชี้ต้องสร้างทิศทางที่ชัดเจน ให้คนไทยมีโอกาสจากความไม่แน่นอน หนุนไทยเป็น “ดิจิทัลฮับในภูมิภาค” แนะฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนระบบราชการ-แก้กฏหมายให้ทันโลก
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงานดินเนอร์ท็อค เนชั่นครบรอบ 50ปีในหัวข้อ “อนาคตของประเทศไทยที่อยากเห็น” โดยระบุว่า 2 ปีกว่าที่่ประเทศไทยและทั่วโลก เจอผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ในฐานะธนาคารได้มีโอกาสสัมผัสผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่ากลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ หรือลูกค้ารายย่อย ซึ่งขนาด ปริมาณของผลกระทบในทางตรงมีกว้างกว่า และในทางอ้อม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต่อเนื่อง เป็นปัญหาที่อยากจะฝากไว้เป็นการบ้านของประเทศในอนาคต เพราะสถานการณ์ของโควิดได้เปลี่ยนรูปแบบไป แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะสามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่โลกจะกลับไปเหมือนก่อนโควิด
ส่วนตัวคิดว่า การสร้างความหวังว่าโลกจะกลับไปเหมือนก่อนโควิดนั้น อาจเป็นความเสี่ยงมากเกินไป การที่โลกเผชิญประเด็น สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมประเทศหลายประเทศจะต้องอยู่ให้ได้ และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในความไม่แน่นอน และโอกาสของประเทศที่สามารถฉวยได้ กับประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อม ไม่ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ไม่แน่นอนจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำยิ่งมีความได้เปรียบเสียเปรียบมากขึ้นออกไปเรื่อยๆ
ผู้นำประเทศต้องชี้ต้องสร้างทิศทางที่ชัดเจน
จึงเป็นโจทย์และความท้าทายของประเทศไทย และพวกเราทุกคน เพราะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่น่ากังวล จริงๆประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก ที่จะคิดว่าจะต้องทำหรือเดินทางไหน แต่อยากฝากไว้คือ ทางออก โดยสถานการณ์ความผันผวน ความไม่แน่นอนที่ยังมีต่อไป โดยต้องเลิกคาดหวังว่าจะกลับสู่สภาพก่อนเกิดโควิด
นอกจากเรื่องสถานการณ์โควิด ยังมีเรื่องสงคราม หรือความขัดแย้งภูมิภาคต่างๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ประเทศต้องกลับไปดูว่าจะอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ผันผวน และทำให้คนไทยในประเทศยังสามารถมีโอกาสฉวยโอกาสความผันผวนได้ โดยผู้นำของประเทศต้องชี้ต้องสร้างทิศทางที่ชัดเจน อย่างน้อยให้คนในประเทศมีโอกาส จากความไม่แน่นอน
หนุนไทย “ดิจิทัลฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
หากย้อนดูการใช้ดิจิทัลของประชาชนรายย่อยหรือ Digital consumer ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า การเพิ่มขึ้นถึง 350 ล้านคนในสิ้นปีที่แล้ว สำหรับประเทศไทย 90% เป็นการใช้อินเทอร์เน็ต Digital consumer เพิ่มกว่า 300% ซึ่งสภาพแวดล้อมหลายประเทศ ไม่ว่าไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มีการใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งไทยและฟิลิปปินส์ มีความก้าวหน้ามากในด้านดิจิทัล โดยมองว่าดิจิทัลสามารถเข้ามาช่วยเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจที่สร้างโอกาสใหม่ๆในภาคอุตสาหกรรมต่างๆในทวีปเอเซีย
หากมองไปในช่วง 10ปีข้างหน้า มองว่าโอกาสขนาดของการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งเอเชียจะขยายตัวมากกว่า 5 เท่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 1ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าและการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ อนาคตของประเทศไทย มีหลายอย่างที่ต้องทำ ส่วนตัวอยากเห็นประเทศไทยสร้างเป้าหมายเป็นดิจิทัลฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยากเห็นภูเก็ตเป็นดิจิทัลฮับของเมืองไทย และเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคนี้ ทำให้ภูเก็ตเป็นที่พักอาศัยหลักสามารถให้คนภูเก็ตเดินทางบินไปประชุมที่สิงคโปร์และกลับมาเที่ยวในช่วงวันหยุด และอยากเห็นเชียงใหม่ หรืออีอีซี เป็นเช่น มณฑลเฉินตู และเซิงเจิ้น เป็นฐานของคนทำงานในด้านTech Talent ซึ่งเรามีความพร้อมเหมาะสมหลายสิ่งหลายอย่าง
การเป็นดิจิทัลฮับ ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ หากจะให้ภูเก็ต เชียงใหม่เป็นฐานที่มั่น หรือแซนบล็อก การสร้างให้คนรุ่นใหม่ให้มีการใช้แพลตฟอร์มแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง “หนี้ครัวเรือน”โดยพยายามเปลี่ยน Mind Set ในการซื้อปัจจัยสี่ หรือบ้าน โดยเปลี่ยนแนวทางให้คนไทยนำเงินออมออกไปเพื่อการลงทุน มากกว่าการนำเงินไปซื้อปัจจัยสี่ เปลี่ยนเป็น Sharing economy เพื่อให้ต้นทุนถูกลงหรือลดภาระหนี้ครัวเรือนในอนาคตด้วย
นายอาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนที่จะเปลี่ยนคือ ประเทศไทยจะต้องสามารถเปลี่ยนระบบราชการหรือกฎระเบียบ กฎหมายเพื่อให้ทันกับโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรให้กระบวนการเปลี่ยนระเบียบราชการต่างๆ โดยให้มีตัวชี้วัดหรือเป็นเคพีไอที่ชัดเจนไม่ว่าไอเดียใดก็ตาม
และต้องทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกระบวนการกฎหมายรวดเร็วพอ มีความรู้มากพอ และสามารถทดลองได้มากพอ การนำเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างอีอีซี การนำเรื่องแซนบล็อกมาทดลองเพื่อให้การเปลี่ยนระเบียบราชการมาใช้ในสิ่งแวดล้อม แนวทางใหม่ที่เชื่อถือได้มากขึ้น ซึ่งเราไม่มีเวลามากพอที่จะสามารถมารอ เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ผันผวน รุนแรง โดยต้องเอาวิชั่นเป็นตัวตั้งเพื่อทำให้กฎหมาย กฎระเบียบบรรลุเป้าหมายของประเทศ