เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์เพียงไรจากเงินบาทที่อ่อนค่า

26 เม.ย. 2565 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 16:28 น.

ซีไอเอ็มบีไทยคาดเงินบาทอ่อนค่าช่วงไตรมาส2ที่ 34.50บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ห่วงผู้ส่งออก “ตั้งราคา-บริหารต้นทุน”กรณีอ่อนค่าแรงและเร็วสู่ระดับ 36บาท/ดอลลาร์ในเดือนพ.ค. หวั่นเงินบาทเดินตามรอยญี่ปุ่น หลังเงินเยนอ่อนค่านับตั้งแต่ต้นปีสูงกว่า 10%

“ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจไทยโตช้าต้องอาศัยมาตรการดอกเบี้ยต่ำลากยาวหนุน-เสี่ยงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงตามรายจ่ายค่าน้ำมันและขาดรายได้การท่องเที่ยว  ประเมินกลางปีเงินบาทอ่อนค่าแตะ 34.50บาทแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัย “เงินไหลออก-ราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าคาด” จับตาเงินบาทอ่อนค่าถึง 36บาท/ดอลลาร์

เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์เพียงไรจากเงินบาทที่อ่อนค่า

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก เพราะการส่งออกคือเครื่องยนต์หลักสำหรับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ จากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น คนระมัดระวังการเดินทางและการใช้จ่าย ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นรวดเร็วตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน ยิ่งกดดันการบริโภคให้เติบโตช้า

ส่วนภาครัฐห่วงหนี้สาธารณะเพิ่มสูงจึงไม่ได้ออกมาตรการกู้เงินรอบใหม่ ขณะที่เงินกู้ที่เหลือราวเจ็ดหมื่นล้านบาทต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น แต่ยังยากที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่

 

การส่งออกสินค้าจึงเป็นความหวัง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยุโรปและอาเซียนยังเติบโตได้ แม้ช้าลงจากปีก่อนแต่นับว่าสูงกว่าในอดีตก่อนหน้า ยกเว้น จีน ที่ประสบปัญหาเติบโตช้าจากการควบคุมการระบาดของโควิดในประเทศ แต่น่าจะมีมาตรการทางการเงินและการคลังมาเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง จึงน่าจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสำคัญของไทย

 

อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูปและสินค้าเกษตร รวมทั้งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาเคลื่อนไหวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผู้ส่งออกจึงคาดหวังให้บาทอ่อนค่า

แต่บาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ระวังเงินบาทเป็นเงินเยนรายต่อไป เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก จากความกังวลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งแรง หรือจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ส่งผลให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สะท้อนว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ประกอบกับเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรเนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่มากขึ้น ล้วนส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

 

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้อีกในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จากความเป็นไปได้ที่เฟดพร้อมเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ครั้งละ 0.50% ไปอยู่ที่ระดับ 1.50% ประกอบกับทำมาตรการ QE หรือการลดงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

 

ขณะที่ตลาดทุนกังวลความเสี่ยงที่สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าหลังมีสัญญาณ inverted yield curve หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว สะท้อนว่านักลงทุนห่วงเศรษฐกิจอาจโตช้าในอนาคต แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่น่าใช่สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเพียงปัญหาสภาพคล่องล้น และความกังวลปัญหาเงินเฟ้อที่กดดันเศรษฐกิจโตช้าและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

 

 “คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าช่วงไตรมาสสองไปที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องกังวลไว้บ้าง นั่นคือหากเงินบาทอ่อนค่าแรงและเร็วเกินไป เช่น จากระดับราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายเดือนเมษายน ไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคมแล้วละก็ ผู้ส่งออกคงยากที่จะตั้งราคาหรือบริหารงบการเงินเพื่อดูแลต้นทุนการใช้จ่ายอื่นๆ แสดงว่าบาทอ่อนในภาพเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเงินบาทที่อ่อนจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง” ดร.อมรเทพ กล่าว 

 

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาพนี้ หลังเงินเยนอ่อนค่าเฉียดระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่า 10% นับจากต้นปี แม้จะเป็นประเทศส่งออกสุทธิ แต่การส่งออกไม่ดีตามคาด ทั้งจากการที่บริษัทเผชิญปัญหาบริหารงบการเงิน ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ การบริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นเร็ว และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 2% เร็วๆนี้ ซึ่งปัจจัยสำคัญกดดันเงินเยนอ่อนค่ามาจากนักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำและคงมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง โดยไม่สนใจว่าสหรัฐและประเทศสำคัญอื่นจะดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น

 

ภาวะเช่นนี้นักลงทุนอาจเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าเงินเยนจะอ่อนไปได้อีกและอาจทำให้ตลาดผันผวนได้ในเดือนข้างหน้า ต้องจับตาว่า นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรค่าเงินจะมองเงินบาทว่ามีภาพคล้ายกับเงินเยนหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ธนาคารกลางจะยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาวเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาจปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า แต่หากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเช่นใด

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบาทอ่อนค่าแรง ในทางทฤษฎี เงินบาทอ่อนค่าจะช่วยการส่งออก การท่องเที่ยว เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่หากอ่อนค่ามากเกินไป จะมีผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น เสมือนเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศมากขึ้น การบริโภคอาจไม่ได้เร่งขึ้นแม้มีรายได้จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เพราะกำลังซื้อแผ่วจากรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และเหล็ก

 

ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ทั้งหมด กลุ่มที่ต้องอาศัยสัดส่วนการนำเข้าที่สูงเพื่อประกอบและส่งออก อาจไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ จากเงินบาทอ่อนค่าแรงชั่วคราวในช่วงไตรมาสสองนี้ แต่ก็ต้องบริหารต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่อนค่าของเงินบาท

1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ส่งออกที่ได้รับประโยชน์ค่อนข้างน้อย

1.1ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ แต่ปริมาณวัตถุดิบแปรตามภัยธรรมชาติ ได้แก่ ส่งออกข้าว  แม้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าค่าเงินของคู่แข่งขันสำคัญในการส่งออกข้าวคือ อินเดีย ขณะที่ค่าเงินเวียดนามแข็งค่าเล็กน้อย แต่ผู้ส่งออกข้าวยังคงเผชิญกับความยากลำบากอย่างต่อเนื่องจาก Stock ข้าวของโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงและราคาข้าวส่งออกของไทยยังสูงกว่าคู่แข่งขันสำคัญค่อนข้างมาก

 

1.2ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ สิ่งทอ  เครื่องหนัง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และอาหารแช่แข็ง เนื่องจากเสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิต ขาดแคลนแรงงาน และการแข่งขันรุนแรง ทำให้ Margin อยู่ในระดับต่ำ

 

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ส่งออกที่ได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของเงินบาทปานกลาง – สูง

2.1     ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและเงินบาทอ่อนค่ากว่าคู่แข่งขันสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางแท่ง และถุงมือยาง เพราะเงินบาทยังอ่อนกว่าค่าเงินริงกิตและค่าเงินรูเปียห์ของคู่แข่งขันสำคัญคือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ประกอบกับได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก  อย่างไรก็ตาม จะถูกกระทบจากการแข่งขันในตลาดส่งออกมีความรุนแรงระดับหนึ่ง

2.2     ผลิตภัณฑ์ที่มี Import content ต่ำถึงปานกลาง และมีอำนาจการต่อรองด้านราคาปานกลางถึงสูง   ได้แก่ อาหารกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคยอมรับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของไทย ทำให้มีอำนาจต่อรองด้านราคา ประกอบกับได้แรงหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า

2.3     ผลิตภัณฑ์ที่มี Import content สูง  และมีอำนาจการต่อรองด้านราคาปานกลางถึงสูง     ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของไทยมีคุณภาพสูง ได้รับการยอมรับในตลาดโลกและเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าคู่แข่งขันสำคัญ(อาทิเช่น เวียดนามและมาเลเซีย เป็นต้น) รวมทั้งได้แรงหนุนจากการเติบโตของความต้องการสินค้าเกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง

 

3. กลุ่มอุตสาหกรรม/ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการอ่อนค่าของเงินบาท

เป็นผู้นำเข้า/อุตสาหกรรมที่มี Import content สูง และส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นมาก และการแข่งขันในตลาดในประเทศรุนแรง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้นำเข้าเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรม และปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช เช่นกัน ตามต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับความต้องการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ  เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับต่ำ

 

แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งปีหลัง มีโอกาสอ่อนค่าช่วง 1-2 เดือนนี้ หลังสหรัฐเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดกลับสภาพคล่องด้วยการลดงบดุล จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยน่าจะขาดดุลสูงที่สุดในรอบปีจากการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงตามราคาน้ำมัน รายได้การท่องเที่ยวที่ยังต่ำ และ

 

การจ่ายเงินปันผลและเงินโอนไปต่างประเทศที่สูงในช่วงไตรมาสสอง ล้วนทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐสูงเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะถึงจุดสูงที่สุดในช่วงไตรมาสสองนี้ ก่อนจะปรับแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

โดยสรุป ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นจากเศรษฐกิจไทยโตช้าต้องอาศัยมาตรการดอกเบี้ยต่ำลากยาวมาสนับสนุน สวนทางกับฝั่งสหรัฐและประเทศในยุโรปที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบสกุลอื่น เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไทยมีความเสี่ยงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงตามรายจ่ายค่าน้ำมันและขาดรายได้การท่องเที่ยว แม้คาดว่าเงินบาทจะไปแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงกลางปี

 

แต่หากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกระทบเงินไหลออกหรือราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าคาด มีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าไปถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และน่าจะมีผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับมุมมองว่าจะควบคุมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนหรือจะปล่อยให้บาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออก แต่ก็อาจช่วยได้ไม่มากเพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูง และขาดแคลนวัตถุดิบ เช่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต

 

นอกจากนี้ เงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรงรอบนี้ อาจไม่ช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีเช่นอดีต จากราคาสินค้านำเข้าที่สูงจะยิ่งกดดันการบริโภคฟื้นตัวช้า อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำ ผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนมีไม่มาก ส่วนกลุ่มผู้นำเข้าเพื่อส่งออกจะเผชิญต้นทุนนำเข้าที่สูงแต่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้

 

ดังนั้น ไตรมาสสองนี้ ผู้ส่งออกอาจเตรียมบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้ดี ทั้งการทำ natural hedging หรือใช้รายได้จากการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐมาจ่ายการนำเข้า การฝากเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศ ผู้นำเข้าเองน่าจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง เงินบาทน่าจะอ่อนค่าแรงที่สุดถึงช่วงกลางปี ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง