ธนารักษ์ เตรียมตั้งกรรมการสอบประมูลท่อส่งน้ำ EEC

05 พ.ค. 2565 | 04:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2565 | 11:27 น.

ธนารักษ์ เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใส่ประมูลท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ในพื้นที่ EEC พร้อมเดินหน้าแจ้งความปมไลน์หลุด ฐานความผิดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกนั้น

 

โดยในวันนี้ (5 พ.ค.65) จะเสนอ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามนโยบายให้เร็วที่สุด และเพื่อลดความคลาดแคลงใจของสาธารณะชน ซึ่งกรมธนารักษ์มีความมั่นใจว่าขั้นตอนการดำเนินการเปิดประมูลมีความโปร่งใสแน่นอน

โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการทางเอกสาร ธุรการทั้งหมด ซึ่งธนารักษ์มีข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว และจะมีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกด้วย

 

เนื่องจากมีประเด็นเรื่องไลน์หลุด ต้องไปตรวจสอบว่ามีการกระทำอย่างนี้จริงหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบระบบท่อทั้งหมด ก่อนส่งมอบให้กับคู่สัญญารายใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาการดำเนินงาน และผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคหรือผู้ใช้น้ำ นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบย้อนหลัง “อีสท์วอเตอร์” ถึงปริมาณน้ำและการนำส่งรายได้เข้ารัฐ ว่าสอดคล้องหรือถูกต้องหรือไม่

"เมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้ว วงศ์สยามฯ จะต้องลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ และทาง อีสท์วอเตอร์ ด้วย ในฐานะผู้ส่งมอบ โดยจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่จะเป็นความเสี่ยงให้เรียบร้อย เนื่องจากยังมีท่อที่ต่อไปยังผู้บริโภค ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าท่อนั้นเป็นของผู้บริโภค หรือของอีสท์วอเตอร์ จากนั้นจึงจะรายงานมาที่ผม" นายประภาส กล่าว

 

ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์

 

ขณะที่กรณีเรื่องไลน์หลุดนั้น จะต้องดูว่าข้อความที่ส่งมานั้น เข้าลักษณะเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวนี้แน่นอน เนื่องจากกรมธนารักษ์เป็นผู้เสียหาย

 

ขณะที่การเดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงศ์สยาม ซึ่งเป็นเอกชนรายใหม่ที่ชนะการประมูล กรมต้องการจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะความล่าช้าที่เกิดขึ้น ถือเป็นความเสียหาย ที่จะมีเม็ดเงินเข้ารัฐ 1,500 ล้านบาท กรณีที่มีการเซ็นสัญญาในช่วงแรก

 

พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ และเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพราะศาลไม่ได้สั่งคุ้มครอง อีสท์วอเตอร์ จึงไม่มีเหตุที่กรมฯ จะต้องหยุดหรือชะลอการดำเนินการ มิเช่นนั้นอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีการเผยแพร่การสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ของหนึ่งในผู้บริหารอีสท์วอเตอร์ มีใจความลักษณะที่ว่า ไม่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ในการเข้าสำรวจพื้นที่ท่อส่งน้ำอีอีซี เช่น ได้สั่งรปภ.ให้เข้มงวดในการเข้าพื้นที่ และไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า สั่งการให้ล็อกประตูสถานีสูบน้ำ อาคาร ไฟฟ้าทั้งหมด เป็นต้น