5 เทคนิคบริหารเงินให้งอกเงย ไม่ว่าจะมีรายได้อยู่ในระดับใด หากทำตามทุกขั้นตอนรับรองมีเงินไว้ใช้อย่างเพียงพอเพื่อดำรงชีวิตไปตลอด
จดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำ
หลายคนอาจรู้สึกว่าการจดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นเหมือนยาขม ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ลืมจด ไม่สะดวก ขี้เกียจ แต่การไม่จดบันทึกจะทำให้ไม่สามารถติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมการใช้เงินในชีวิตประจำวันของตัวเองได้
จะว่าไปแล้วการจดบันทึกรายรับรายจ่าย ทุกคนสามารถลงมือทำได้ทันทีเพียงมีกระดาษหนึ่งแผ่น ปากกาหนึ่งด้าม จากนั้นให้พกกระดาษแผ่นนี้นำติดตัวไปทุกที่ เมื่อมีการใช้จ่ายก็หยิบขึ้นมาจดบันทึก เช่น ซื้อข้าวเพียง 10 บาทก็ต้องจดบันทึก และเมื่อกลับถึงบ้านให้คัดลอกลงสมุดบันทึกเพื่อป้องกันการสูญหาย
หรือถ้าต้องการความสะดวกสบายมากกว่านี้ก็ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันการบันทึกรายรับรายจ่ายลงมือถือ เมื่อใช้จ่ายเงินก็เปิดแอปพลิเคชันแล้วทำการจดบันทึก ซึ่งการทำแบบนี้เป็นประจำทุกวันจะสามารถติดตามการใช้เงินได้ตลอด และหากพบว่ามีการใช้เงินไปกับเรื่องใดมากเป็นพิเศษ ก็จะรู้และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ทันที
จัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
เมื่อทำการจดบันทึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องทำการทบทวนรายรับรายจ่ายเป็นประจำ เช่น เดือนละหนึ่งครั้ง และหากพบว่ารายจ่ายใดที่มากเกินความจำเป็น เช่น เพื่อความบันเทิง สังสรรค์ หรือรูดบัตรเครดิตเพื่อช้อปปิ้ง ก็ลองตั้งเป้าหมายเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ด้วยการแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค บันเทิง สังสรรค์ ซึ่งข้อดีของการแบ่งเงินเป็นหมวดหมู่จะทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และรู้ตัวว่ากำลังจับจ่ายไปกับเรื่องใดมากเกินควร
หาช่องทางเพิ่มหรือชดเชยรายได้
เมื่อจดบันทึกรายรับรายจ่ายและแบ่งหมวดหมู่รายจ่ายแล้ว อาจพบว่ารายรับส่วนใหญ่มักมีเพียง 1 รายการ คือ เงินเดือน ดังนั้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ถูกลดเงินเดือน ตกงาน หรือเจ็บป่วย อาจเจอกับรายได้ตึง ทางออก คือ มองหาช่องทางหารายได้เสริม ที่สำคัญควรป้องกันการสูญเสียรายได้จากอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วย ผ่านการทำประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุด้วย
ให้เงินทำงานผ่านการลงทุน
นอกจากการหารายได้เสริม อีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ คือ นำเงินออมไปลงทุน ซึ่งปัจจุบันช่องทางการลงทุนมีหลากหลาย เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ โดยก่อนตัดสินใจลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด และเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับสไตล์ เป้าหมายและความเสี่ยงของตัวเอง
จัดระเบียบหนี้สินให้เป็นระบบ
ผู้ที่มีหนี้สินและกำลังผ่อนจ่าย ยิ่งต้องจดบันทึกรายรับรายจ่ายเพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับอะไร จากนั้นก็จัดการลดรายจ่ายแล้วนำเงินไปจ่ายหนี้เพิ่มเติมเพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้น หรือนำไปออมเพื่อใช้เป็นเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน จะได้ไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม
โดยเมื่อเวลาผ่านไป หนี้ลดและหมดไป ก็โฟกัสที่การออมและการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัว
ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,สมาคมนักวางแผนการเงินไทย