เรื่องควรรู้ก่อนลงทุน "Digital Asset"

17 พ.ค. 2565 | 05:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 12:36 น.

สินทรัพย์ดิจิทัล กำลังเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยผลตอบแทนระดับสูงในเวลาไม่นาน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน การลงทุนจึงจำเป็นต้องรู้จักตัวเองก่อนว่า เหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ มีความรู้ความเข้าใจเพียงใด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังได้รับความนิยมและมีบทบาทมากขึ้นในแวดวงการเงินในฐานะเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในเวลาอันรวดเร็ว แต่ความเสี่ยงและความผันผวนก็สูงมากเช่นกัน ประกอบกับเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงอาจเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง

 

สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ หรือใช้กำหนดสิทธิการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสิทธิได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง สินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มี 2 ประเภท

 

1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลหากผู้ใช้ยอมรับ โดยคริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นที่รู้จัก เช่น Bitcoin, Ethereum, Tether, BNB, USD Coin เป็นต้น

 

2. โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (Investment Token) หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคนไว้ โดยเป็นการเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย

 

ด้วยราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเลือกลงทุนได้ถูกที่ ถูกเวลา อาจสร้างผลตอบแทนในระดับที่ดีในเวลาอันรวดเร็ว ขณะเดียวกันเป็นตลาดการลงทุนที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนทุกคน ประเด็นนี้ อมรเดช คีรีพัฒนานนท์ กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย แนะนำให้ตรวจสอบตัวเองก่อนว่าเป็นคนที่เหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่

 

  • ชอบอัพเดทความรู้อยู่สม่ำเสมอหรือไม่

 

เครื่องมือชี้วัดตัวหนึ่งที่ใช้ได้ คือ อธิบายเรื่องนั้นให้คนอื่นที่ไม่เข้าใจเรื่องนั้น สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ภายในเวลา 5 นาทีหรือไม่ ถ้าทำได้ก็ใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าเข้าใจในเรื่องนั้นได้อย่างละเอียด และคุณลักษณะหนึ่ง คือ ถึงแม้องค์ความรู้มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังติดตามเพื่ออัพเดทความรู้อยู่เสมอ รวมถึงสามารถอธิบายจุดเริ่มต้นในอดีตจนมาถึงปัจจุบันได้

 

  • มีการบริหารเงินอย่างเป็นระบบ

 

การบริหารจัดการเงิน (Money Management) อย่างเป็นระบบ มีเป้าหมาย มีการปฏิบัติอย่างชัดเจน และมีระเบียบวินัยอย่างต่อเนื่อง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเมื่อมีการบริหารจัดการเงินแล้วก็จะรู้ว่าวงเงินจำนวนเท่าไหร่ที่เหมาะสมในการนำมาใช้ลงทุน และต้องลงทุนในส่วนไหนเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนด้านราคามาก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากความไม่มั่นคงและไม่แน่ใจในการทำงานของธุรกิจที่เป็นเบื้องหลังของสินทรัพย์ดิจิทัลตัวนั้น ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สูงจากความผันผวนเหล่านี้ตามมาด้วยเป็นเงาตามตัว แต่ถ้ามีการบริหารจัดการเงินที่ดี ก็จะรู้ว่าสามารถลงทุนในส่วนไหนได้เป็นจำนวนเท่าไรและมีความเสี่ยงในส่วนนั้นมากหรือน้อยเพียงใด

 

 

การบริหารจัดการเงินที่ดี ไม่ได้พูดถึงแต่เพียงการจัดสรรเงินที่ลงทุนในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดการเงินในภาพรวมว่าต้องมีเงินเก็บสำรองไว้ใช้ส่วนตัว ค่าใช้จ่ายรายเดือน และการแบ่งส่วนลงทุนอื่น ๆ เป็นต้น กล่าวได้ว่าการมีการบริหารจัดการเงินที่ดี จะช่วยให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี พร้อมกับการควบคุมความเสี่ยงให้เป็นไปได้อย่างเหมาะสม โดยยังได้ผลตอบแทนตามที่ตัวเองต้องการ

 

  • รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

 

ความเสี่ยงไม่ได้มีแค่เรื่องของราคาอย่างเดียว แต่มาจากเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเพราะหลายธุรกิจที่ทำงานเป็นเบื้องหลังของสินทรัพย์ดิจิทัลอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น แพลตฟอร์มตัดสินใจเลิกโดยไม่มีเหตุผล กรณีนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติในโลกดิจิทัล ดังนั้น ทุกการลงทุนจึงจะต้องมองเห็นความเสี่ยงอยู่เสมอ และที่สำคัญต้องคุยกับตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เพราะการที่รับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยจะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ที่จะจัดสรรเงินในการลงทุนอีกด้วย

 

  • พร้อมที่จะศึกษาและใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ

 

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล จะมีเครื่องมือที่ต้องใช้งานเป็นการเฉพาะ ซึ่งหลายเครื่องมือเป็นเครื่องมือที่ทำความเข้าใจหรือหยิบมาใช้งานได้ค่อนข้างยาก หรือเป็นเครื่องมือที่มีรายละเอียดในการทำงานค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย 
 

อีกทั้ง การเข้าไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ จะมีเครื่องมือที่แตกต่างกัน และมีความจำเพาะเจาะจงแตกต่างกันไป เช่น เครื่องมือสำหรับ NFT การทำความเข้าใจ Blockchain Transaction การกู้ยืม การฝาก การสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่จากสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เป็นต้น

 

สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ดิจิทัล สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT™ K Wealth ธนาคารกสิกรไทย แนะนำว่า ควรศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และอ่าน Whitepaper ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเสนอขายให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อช่วยให้เข้าใจในเทคโนโลยีที่กำลังจะลงทุน

 

การอ่าน Whitepaper คล้าย ๆ กับการอ่านแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้น หรืออ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม” 

 

อีกทั้ง ควรติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่เสมอ รวมถึงข่าวคราวการหลอกลวงหรือชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจากมิจฉาชีพเพื่อให้รู้เท่าทัน ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตก่อนลงทุนทุกครั้ง

 

ที่สำคัญแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนให้เหมาะสมและกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยลงทุนในหลาย ๆ สินทรัพย์ ทั้งนี้ เงินที่นำมาลงทุนควรเป็นเงินเย็น และพร้อมที่จะสูญเสียเงินต้นหรือรับผลขาดทุนได้ รวมถึงการพิจารณาความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ

 

“สินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงและความผันผวนได้สูง หากมีความรู้ ลงทุนอย่างเข้าใจ ทั้งลักษณะ เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยง ก็มีโอกาสที่จะทำเงินได้มากขึ้น” สุวิมล กล่าวสรุป

 

หากสนใจลงทุน สามารถติดต่อสอบถามตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) โดยนักลงทุนสามารถตรวจเช็ครายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
 

บทความโดย  :  ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,setinvestnow.com