นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารออมสิน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.7% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 เล็กน้อย ที่อยู่ระดับ 2.5%
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากส่วนที่เป็น NPL ของออมสินนั้น บางส่วนเป็นสินเชื่อจากมาตรการของรัฐ เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ที่ต้องการเติมสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด โดยออมสินก็ยังบริหารจัดการได้
“ความตั้งใจของรัฐบาลต้องการส่งเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ผ่านสินเชื่อตามนโยบายรัฐ รัฐจึงชดเชยความเสียหายกรณีเป็นหนี้เสียให้ แต่ละโครงการประมาณ 30-50% ฉะนั้น แม้ตัวเลขหนี้เสียในกลุ่มดังกล่าวจะถูกคำนวณจำนวนหนี้เสียของแบงก์ 2.7% แต่เราก็ไม่ต้องเอาสำรองส่วนเกินของแบงก์มาใส่ เพราะรัฐชดเชยความเสียหายให้เราอยู่แล้ว” นายวิทัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ระยะต่อไปออมสินจะทยอยปล่อยให้ NPL ขึ้นตามสภาพธุรกิจจริง ฉะนั้น NPL จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในสิ้นปี 2565 แต่ธนาคารก็มีสำรองส่วนเกินรองรับไว้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 30,000 ล้านบาท และสิ้นปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 40,000 ล้านบาท
ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.เริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ที่กู้สินเชื่อฉุกเฉิน มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นโครงการสินเชื่อตามนโยบายของรัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด
โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ออกสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท อนุมัติสินเชื่อกว่า 912,138 ราย เป็นเงินรวม 9,086 ล้านบาท และสินเชื่อสู้ภัยโควิด 1 หมื่นล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 4.11 แสนราย อนุมัติสินเชื่อรวม 31,054 ราย อย่างไรก็ตาม หากเป็นหนี้เสีย ธ.ก.ส.จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล 30%
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ และโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้เดินหน้าแก้ไขหนี้เกษตรกร โดยการออกไปพบลูกค้า และสำรวจ ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า ออกเป็นกลุ่ม เขียว เหลือง และแดง โดยหากจัดกลุ่มเรียบร้อยแล้ว จะเดินหน้าตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ในปีนี้ จะเดินหน้าดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นสีแดง 3 แสนรายก่อน ที่จะต้องเข้าไปฟื้นฟู และเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ตามนโยบายของ ธปท. ซึ่งจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นให้ 50% และอีก 50% จะเป็นการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ จนกว่าลูกค้าจะสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา” นายสมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ จากการจัดกลุ่มลูกค้าตามความสามารถในการชำระหนี้ทั้งหมด 12.47 ล้านสัญญา วงเงินรวม 1.58 ล้านล้านบาท พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (สีแดง) กว่า 5.83 ล้านสัญญา มูลค่า 5.84 แสนล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างสูง (สีส้ม) 39,889 สัญญา มูลค่า 8,463 ล้านบาท
กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) 5.3 ล้านสัญญา มูลค่า 7.14 แสนล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (สีเขียวอ่อน) 7.61 แสนสัญญา มูลค่า 1.52 แสนล้านบาท, และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (สีเขียวเข้ม) 4.74 แสนสัญญา มูลค่า 1.25 แสนล้านบาท