PwC เผยรายงานการจัดอันดับโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางพบ มากกว่า 80% ของแบงก์ชาติทั่วโลกตื่นตัวในการออกสกุลเงินดิจิทัล หรือได้มีการดำเนินการไปแล้ว
ขณะที่โครงการ mBridge หรือโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ถูกริเริ่มโดย HKMA และ ธปท. ถูกจัดให้เป็นโครงการที่มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับสถาบันการเงินมากที่สุดของโลก
รายงาน ‘The 2022 PwC CBDC Global Index’ ซึ่งได้จัดทำดัชนีเพื่อวัดระดับความพร้อมของโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)
สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคประชาชนทั่วไป (Retail) และธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Wholesale) รวมถึงประเมินการพัฒนาโครงการ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของธนาคารกลาง
และความสนใจจากสาธารณชน พบว่า มากกว่า 80% ของธนาคารกลางทั่วโลก กำลังพิจารณาเปิดตัว CBDC อย่างเป็นทางการ หรือได้มีการดำเนินการไปแล้ว สะท้อนให้ถึงอนาคตของระบบการเงินที่กำลังมุ่งสู่ดิจิทัล
สำหรับภาพรวมของโครงการประเภท retail CBDC นั้น อยู่ในช่วงการเติบโตที่สูงกว่าโครงการประเภท wholesale CBDC แต่ในปีที่ผ่านมาพบว่า มีโครงการนำร่อง wholesale CBDC หลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
ซึ่งโครงการประเภท retail CBDC ที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับแรกในดัชนี คือ ‘eNaira’ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางไนจีเรีย (Central Bank of Nigeria: CBN) ซึ่งถือเป็น CBDC แรกในทวีปแอฟริกา
ตามมาด้วยอันดับที่สอง ‘Sand Dollar’ ที่ออกโดย ธนาคารกลางบาฮามาส เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และอันดับที่สาม ‘หยวนดิจิทัล’ (Digital Yuan) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ได้ทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชนตั้งแต่ปี 2563 และ ณ เดือนมีนาคม 2565 ก็ยังคงทดลองใช้อย่างต่อเนื่องใน 12 หัวเมือง รวมถึงกรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้
ในส่วนของโครงการประเภท wholesale CBDC ที่มีความก้าวหน้ามากเป็นอันดับแรก คือ โครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล
สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ถูกริเริ่มโดยธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพัฒนาต้นแบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมหลายสกุลเงิน และทำได้แบบเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT)
นอกจากนี้ โครงการ CBDC ใหม่สองโครงการขององค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) ก็ได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่สองตามมา ในขณะที่ MAS ยังคงเดินหน้าพัฒนา wholesale CBDC สำหรับการชำระเงินเพื่อการซื้อขาย หรือการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รายงานของ PwC ยังได้เปิดเผยถึงภาพรวมของสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีกลไกในการตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์อื่น เช่น สเตเบิลคอยน์ที่คงมูลค่าไว้กับเงินทั่วไป (Fiat Currency) ซึ่งช่วยเชื่อมโยงระบบนิเวศทางการเงินแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีดิจิทัลไว้ด้วยกัน
นาย เฮเดน โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญบล็อกเชนและคริปโต บริษัท PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ดัชนีปีนี้แสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเร่งขยายกิจกรรมด้านสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น
โดยประเทศต่าง ๆ มีระดับความก้าวหน้าของการพัฒนา CBDC รวมถึงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป ซึ่งการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น การสนับสนุนระบบชำระเงินระหว่างประเทศ และการควบคุมอาชญากรรมทางการเงินจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ
เราคาดว่า การวิจัย ทดสอบ และใช้งาน CBDC จะยิ่งเข้มข้นขึ้นในปีนี้ ซึ่งความสำเร็จของ eNaira ในประเทศไนจีเรีย น่าจะช่วยกระตุ้นการพัฒนา CBDC ในประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อีกทางหนึ่ง”
ด้าน นาย จอห์น การ์วีย์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินโลกของ บริษัท PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “สิ่งสำคัญสำหรับสถาบันการเงิน คือ จะต้องเข้าใจว่าธนาคารกลางมีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลอยู่ในระดับไหน เพราะท้ายที่สุดแล้ว CBDC จะส่งผลกระทบต่อระบบการชำระเงินและงบดุลของธนาคาร
ดังนั้น การปรึกษาหารืออย่างละเอียดกับธนาคารกลาง จะเป็นสิ่งสำคัญในการชี้แจงเหตุผลทางธุรกิจสำหรับ CBDC ตั้งแต่การเข้าถึงบริการทางการเงิน ผลดำเนินงานทางการเงิน และมุมมองของการทำงานร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ การลดต้นทุนการชำระเงินจะช่วยสร้างคุณค่าทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจและประชาชน ซึ่งหาก CBDC สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินได้ ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป คือ หลังจาก CBDC เริ่มใช้งานได้จริงในประเทศไทย จะทำให้ภูมิทัศน์ทางการเงินเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลมาก-น้อยแค่ไหน ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการธุรกิจก็ต้องติดตามความคืบหน้าของ CBDC อย่างใกล้ชิดเพราะจะมีผลกระทบด้านบัญชี และผลกระทบในแง่ธุรกิจอย่างแน่นอน”
รายงานของ PwC ระบุว่า สำหรับโครงการ mBridge จะเข้าสู่ระยะนำร่องในปีนี้ โดยจะมีการสำรวจข้อจำกัดที่มีอยู่ของแพลตฟอร์มปัจจุบัน เช่น ความเป็นส่วนตัว การจัดการสภาพคล่อง ความสามารถในการปรับขนาด และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ รวมถึงสำรวจข้อกำหนดของนโยบาย และการทดลองใช้ CBDC กับธนาคารพาณิชย์ และผู้เข้าร่วมตลาดรายอื่น ๆ
สำหรับโครงการประเภท retail CBDC รายงานของ PwC ระบุว่า ไทยมีความก้าวหน้าอยู่ในอันดับที่แปด (ตามหลัง สาธารณรัฐโอเรียนทัลอุรุกวัย ในอันดับที่เจ็ด แต่นำหน้า สวีเดน ในอันดับที่เก้า) โดยธปท. ต้องการพัฒนา retail CBDC ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินในรูปแบบดิจิทัล และนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันแบงก์ชาติกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการออก retail CBDC ว่า จะเป็นโครงสร้างแบบ one-tier โดยแบงก์ชาติเป็นผู้ออก กำกับดูแล และบริหาร CBDC หรือแบบ two-tier โดยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก CBDC และแบงก์ชาติเป็นผู้กำกับ ซึ่งหาก retail CBDC ทำได้จริงในไทย ก็จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินที่ดีให้กับธนาคารพาณิชย์ และเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอดพัฒนาสินค้า หรือบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป” นางสาว วิไลพร กล่าว