การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนลดการถือครองเงินเยนและหันไปซื้อดอลลาร์แทน เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แรงเทขายเงินเยนอย่างหนักในปีนี้ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ทะยานขึ้นเหนือระดับ 3% ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง 0.3% สู่ระดับ 132.33 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 หรือต่ำสุดในรอบ 20 ปี
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ล่าสุด (9 มิถุนายน 2565) เงินเยนอ่อนค่าลง 14.3% มาที่ 134.42 เยนต่อดอลลาร์ฯ จากสิ้นปี 2564 ปิดที่ระดับ 115.11 เยนต่อดอลลาร์ฯ
ส่งผลให้ค่าเงินเยนต่อเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน โดยเยนอ่อนค่า 10.8% มาที่ 25.71 บาทต่อ 100 เยนจากสิ้นปี 2564 ปิดที่ระดับ 28.84 บาทต่อ 100 เยน
นายเออิสุเกะ ซากากิบาระ อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเจ้าของฉายา “มิสเตอร์เยน” ยังคาดการณ์ว่า เงินเยนมีแนวโน้มทรุดตัวลงจนถึงระดับเดียวกับในปี 2533 เนื่องจากนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐมีทิศทางที่แตกต่างกันมากขึ้น ระหว่างนโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้เงินเยนจะเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยนี้ต่อไปจนกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศจะหดแคบลง
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้หลายประเทศเริ่มเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การอ่อนค่าของเงินเยนจึงกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเงินเก็บไว้ เพราะในอดีตที่เงินเยนแข็งมากๆ เราอาจต้องใช้ 32-33 บาทเพื่อแลก 100 เยน แต่ล่าสุดจะใช้เพียง 25 บาทก็สามารถแลก 100 เยนได้แล้ว
คาดเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มเงินเยนยังมีโอกาสอ่อนค่าไปได้อีก 3-4% หลังจากที่่เงินเยนต่อดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 134 เยนต่อดอลลาร์แล้ว จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของ BOJ ซึ่งส่วนตัวมองว่า เงินเยนต่อดอลลาร์อาจอ่อนค่าไปถึง 135 เยนต่อดอลลาร์
ขณะที่ตลาดกังวลว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อ และทำให้เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ โดยความกังวลดังกล่าวหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นกลับไปสู่ระดับ 3.03% สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมามองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนทำให้ Terminal Rate ของเฟดอาจสูงราว 3.50%
“แนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยเป็นความไม่แน่นอน ช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าตามประเด็นที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง และเมื่อเทียบเยนต่อบาท ก็อ่อนค่าลงด้วย ซึ่งดีที่สุดเคยมองไว้อาจจะลงไปถึง 25 บาทต่อ 100 เยนได้ โดยสิ้นปีนี้มองไว้ที่ 25.78 บาทต่อ 100 เยน เทียบกับสิ้นปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 28.10 บาทต่อ 100 เยน อ่อนค่าแล้ว 9% ซึ่งมีโอกาสอ่อนค่าไปได้อีก 3-4%” นายพูนกล่าว
แนะทางเลือกปิดความเสี่ยงค่าเงินเยนอ่อน
สำหรับคนที่ต้องการแลกเงินเยน หากกังวลว่า ถ้าแลกแล้ว กลัวว่าเงินเยนจะถูกลงอีก อาจใช้การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเป็นทางเลือกในการปิดความเสี่ยงค่าเงินได้ เพราะการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นตอนนี้น่าสนใจ ราคาหุ้นยังถูกและเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว และถ้ายิ่งเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท จะยิ่งดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยมองว่า upsides หุ้นญี่ปุ่นอีก 12 เดือนข้างหน้า มีประมาณ 13% (ดัชนี TOPIX ที่ 2,200 จุด)
“ใครที่ต้องการแลกเงิน ถ้ายังไม่แลกเงินตอนนี้ รอไปแลกปีหน้าก็ยังมีกำไรจากการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นมาช่วยลดผลกระทบ หากค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นจากปัจจุบัน” นายพูนระบุ
หลังมิ.ย.ยอดแลกเงินพุ่ง
นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) จำกัด หรือ SuperRich SPR (ซุปเปอร์ริชสีส้ม) กล่าวว่า บรรยากาศการแลกเงินยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากต้นปี 2565 ส่วนใหญ่ยังเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ,ยูโร และเงินเยน ซึ่งหากรวม 5 เดือนยอดแลกเงินประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยยอดแลกเงินต่อคนลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ยอดแลกเงินอยู่ที่ 2-3 แสนบาทต่อคน
ขณะที่ปีนี้จำนวนลูกค้าเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นราว 50% เมื่อเทียบปี 2562 และเพิ่มขึ้นประมาณ 200% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยวัตถุประสงค์ของการแลกเงินส่วนใหญ่เพื่อการเดินทาง ซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อย
ส่วนการอ่อนค่าต่อเนื่องของเยนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ส่วนตัวไม่คิดว่า เงินเยนจะอ่อนค่าไปกว่า 26 บาทบวกลบ เพราะขึ้นกับเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อลดอัตราเงินเฟ้ออาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาสะดุด ซึ่งแนวโน้มหลังเดือนมิถุนายนที่เริ่มเปิดเมือง คนจะเดินทางคาดว่า ยอดแลกเงินน่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมอยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ช่วงที่เหลือยังห่วงเรื่องสงครามและเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐบาล น่าจะหันมาโปรโมทไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ แมคอินไทยแลนด์
ตลาดรับรู้เงินเยนอ่อนค่า
สอดคล้องกับนางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัดกล่าวว่า ยอดแลกเงินต่อเดือนอยู่ที่ประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากกลุ่ม Whole Sale พันธมิตรร้านแลกเปลี่ยนเงินด้วยกัน ธนาคารพันธมิตร โดยเฉพาะ 5-6 เดือนที่ผ่านมาปีนี้เพิ่มขึ้นราว 50% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเกิดจากการนำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาขายในประเทศ 2,000-3,000 ล้านบาท
“ตอนนี้คนเริ่มออกนอกประเทศเช่น ไปเกาหลี แลกซื้อเงินวอน เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือสกุลเงินอื่นๆ ส่วนญี่ปุ่นไม่เยอะเท่าช่วงต้นปี เพราะตลาดรับรู้การอ่อนค่ามาระยะหนึ่งแล้ว และสกุลเงินยูโรยอดแลกเงินยังไม่มาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนคุ้นเคยใช้ระบบการ์ด แทนที่จะแลกเงินออกไปต่างประเทศ และสามารถไปทุกประเทศและล็อกเรตได้ เมื่อกลับเข้ามาในประ เทศสามารถแลกคืนหรือเติมเงินต่อบัตรได้อีก” นางสาวชนาพรกล่าว
ที่มา: หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,791 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565