นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจง กรณีข่าวเกี่ยวกับตัวเลขการให้กู้ยืมเงิน ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับของกองทุน โดยระบุว่าเบี้ยปรับของกองทุนมีอัตราที่ค่อนข้างสูงนั้น โดยยืนยันว่านโยบายของกองทุน คือการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน และนักศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กองทุนยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.01% ต่อปี จากที่ผ่านมาจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1% ต่อปี เท่านั้น เช่นเดียวกับเบี้ยปรับ ได้มีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 0.5% ต่อปี จาก 7.5% ต่อปี
ซึ่งหากผู้กู้รายใดถูกดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้ชำระเบี้ยปรับในอัตรา 7.5% ต่อปี ดังนั้นกรณีที่เบี้ยปรับมีจำนวนมากนั้น เป็นตัวเลขจำนวนเบี้ยปรับที่มีการค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเบี้ยปรับสะสม
“ตั้งแต่มีกองทุน กยศ. เกิดขึ้น ก็มีการคิดดอกเบี้ยที่ 1% มาโดยตลอด ส่วนเบี้ยปรับนั้น ยังต้องมีเพื่อให้ผู้กู้ทยอยคืนเงินตามกำหนด เพื่อให้รุ่นน้องรุ่นถัดไป ได้เข้ามากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต่อได้ เพราะที่ผ่านมากองทุนไม่เคยพึ่งพางบประมาณของภาครัฐ และดอกเบี้ยที่เก็บมา ก็เป็นเงินหมุนเวียนในกองทุน ดังนั้นต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของกองทุนด้วย ถ้ากองทุนอยู่ไม่ได้ จะต้องไปพึ่งงบประมาณประจำ ถ้าถูกตัดงบลง ก็จะกระทบกับผู้กู้ยืมในอนาคตได้” นายกฤษฎา กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า กรณีที่ไม่ฟ้อง กองทุนยังมีกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ พร้อมยืนยันกองทุนไม่ได้หน้าเลือด ไม่ได้ขูดรีด เมื่อเป็นหนี้ หากชำระไม่ไหว ก็ขอให้มาเจรจาชำระหนี้ได้ ซึ่งบางรายที่ชำระหนี้ไม่ไหว กองทุนก็ให้โอกาสในการชำระต่ำสุดเพียงเดือนละ 10 บาท ดังนั้น เมื่อเป็นหนี้ก็ควรมาชำระหนี้
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้อยู่ระหว่างผลักดันการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยปลดล็อกผู้ค้ำประกัน และไม่ยึดทรัพย์ผู้ค้ำ การให้ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องและชำระหนี้ไม่ได้ มาเจรจาขอเริ่มต้นการผ่อนชำระใหม่ และยืดอายุการผ่อนชำระหนี้ออกไปอีก 10-20 ปี
รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่กฎหมายกำหนด ไม่เกิน 7.5% และเบี้ยปรับไม่เกิน 18% เป็นดอกเบี้ยไม่เกิน 2% และเบี้ยปรับไม่เกิน 5% ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของการพิจารณาของกรรมาธิการ รัฐสภา คาดจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกรกฎาคม 65 รัฐสภา โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในช่วงปลายปี 65 นี้
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ยอมรับว่า ขณะนี้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ แต่สาเหตุที่กองทุนยังอยู่ได้ เนื่องจากมีเงินที่ผู้กู้ยืมได้ทยอยชำระหนี้คืนมา ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในกองทุน ขณะเดียวกันในช่วงโควิด-19 กองทุนได้ชะลอฟ้องจำนวน 1.8 แสนราย ขณะที่อีกกว่า 1 พันราย กองทุนจำเป็นต้องฟ้องฯ เนื่องจากจะขาดอายุความ
“ที่ผ่านมากองทุนมีการคิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนประเด็นที่บอกว่า กองทุนฯ ได้ดอกเบี้ยปีละกว่า 6,000 ล้านบาทนั้น เป็นดอกเบี้ยในภาพรวมจากการปล่อยกู้ทั้งหมด ที่กองทุนได้ปล่อยกู้ไปกว่า 6.9 แสนล้านบาท จึงอยากให้ดูที่ตัวเลขในภาพรวมที่กองทุนได้ปล่อยกู้ด้วย” นายชัยณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2564 กองทุนมีเงินงบประมาณให้กู้ยืม 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษา 600,000 ราย โดยสามารกู้ยืมเงินได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ให้มีแหล่งเงินทุนนำไปใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายดำรงชีพ
ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กยศ. ได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 6.21 ล้านราย คิดเป็นเงิน 692,253 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.56 ล้านราย คิดเป็นเงิน 114,821 ล้านบาท อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.52 ล้านราย คิดเป็นเงิน 450,105 ล้านบาท อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1.06 ล้านราย คิดเป็นเงิน 121,818 ล้านบาท เสียชีวิตและทุพพลภาพ 67,332 ราย คิดเป็นเงิน 5,509 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา กองทุนได้มีมาตรการลดหย่อน โดยลดอัตราการคิดเบี้ยปรับลงสำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี เหลือ 0.5% ต่อปี ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี และสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว จะลดเงินต้น 5%
ขณะที่ผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชีจะลดเบี้ยปรับให้ 100% และสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) จะลดเบี้ยปรับ 80%
นอกจากนี้ กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ขยายระเวลาออกไปถึง 31 ธันวาคม 65 จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 65 นี้