เฟดใช้ยาแรง ผลักดันเงินต่างชาติไหลออก มิ.ย.กว่า 2 หมื่นล้าน

17 มิ.ย. 2565 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 10:32 น.

เผยต่างชาติขายหุ้นไทย เดือนมิ.ย. (1-16 มิ.ย.65) เงินไหลออกกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยวันเดียวหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% รอบ 28 ปี ต่างชาติขาย 5,799 ล้านบาท "บล.เอเซียพลัส" ชี้สเปรดดอกเบี้ยไทย-เฟด ยิ่งห่างโอกาสฟันด์โฟลว์ไหลออกยิ่งสูง จากปัจจุบันต่อวันกว่า 2.1 พันล้านบาท

ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50%- 1.75% โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% รอบนี้ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ปี 1994 นอกจากนี้เฟดยังส่งสัญญาณชัดเจนจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึง 3.5% ภายในสิ้นปีนี้ หรือขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.75%โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมวันที่ 27ก.ค.นี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างจริงจัง

 

อ่านเพิ่มเติม :  เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แรงสุดในรอบ 28 ปี! พร้อมส่งสัญญาณขึ้นอีก 1.75% ในปีนี้

 

การที่เฟดใช้ยาแรงขึ้นดอกเบี้ย  ยังทำให้บรรดาธนาคารกลางหลายประเทศแห่ขึ้นดอกเบี้ยตาม  อาทิ แบงก์ชาติอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมวานนี้ (16 มิ.ย.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเช่นกันในรอบ 13 ปี  ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า (ก.ค.) และจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ ECB ในรอบ 11 ปี

 

อ่านเพิ่มเติม :  ส่อง 'ไทม์ไลน์' เฟดขึ้นดอกเบี้ยปี 65 และคาดการณ์อีก 4 ครั้งที่เหลือ

 

สำหรับ"แบงก์ชาติ"ของไทยที่มีกำหนดการประชุมในครั้งหน้าวันที่ 10 ส.ค.65 ซึ่งห่างกับปัจจุบันพอสมควร จึงคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเห็น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประชุมวาระพิเศษ นักวิเคราะห์คาดว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือปีนี้อีก 2- 3 ครั้ง ในอัตรา 0.50%-0.75% จากระดับปัจจุบัน 0.50% เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด  เป็นปัจจัยลบที่ส่งต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง โดยทันทีที่ทราบผล ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ปิดตลาดวันที่ 15 มิ.ย.) ปรับตัวขึ้น และส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชีย รวมทั้งไทยเปิดตลาดเช้าวันที่ 16 มิ.ย.65 ดัชนีปรับตัวขึ้น เนื่องจากเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้แล้ว และบางสำนักยังมองด้วยซ้ำว่า การปรับขึ้นรอบนี้ ยังน้อยกว่าคาดการณ์ 0.25% เมื่อเทียบกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวแรง  

 

ก่อนที่ตลาดหุ้นไทยจะย่อตัวลงมาอยู่ในแดนลบ โดยช่วงท้ายตลาดหุ้นไทยกลับดิ่งตัวลงรุนแรงจนติดลบไปกว่า 20 จุด ก่อนมาปิดที่ 1,561.10 จุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.  ลดลง 32.44 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 97,738.02 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 5,799.70 ล้านบาท

 

ฟันด์โฟลว์ไหลออก 

 

จากข้อมูลรายงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าในรอบเดือน มิ.ย. ( 1 -16 มิ.ย.65) นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิหุ้นไทยเป็นมูลค่า  20,007.11 ล้านบาท  ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 - 16 มิ.ย. 65  ยังมีสถานะซื้อสุทธิ 122,009.75 ล้านบาท

 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สเปรด (Spread) ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯและไทย ยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อน และเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้น

 

เฟดปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75% ขึ้นมาอยู่ในกรอบ 1.50% - 1.75% ขณะที่ไทยอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเพียง 0.5% จึงทำให้ Spread อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐปัจจุบันห่างกัน -1.25% ซึ่งดูในอดีต Spread มากที่สุดอยู่ราว -1.0%

 

ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกเฉลี่ยถึง 2.1 พันล้านบาท/วัน และสังเกตได้ว่า Spread ดอกเบี้ยไทยสหรัฐยิ่งกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสเห็นฟันด์โฟลว์ ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยสูงตามไปด้วย (ดังรูปด้านล่าง) และหากดอกเบี้ยปลายปีสหรัฐอยู่ที่ 3.25%-3.50% คาดทำให้ Spread ปลายปีกว้างถึง 2.75%-3%   

 

เฟดใช้ยาแรง ผลักดันเงินต่างชาติไหลออก มิ.ย.กว่า 2 หมื่นล้าน

 

เฟดใช้ยาแรง ผลักดันเงินต่างชาติไหลออก มิ.ย.กว่า 2 หมื่นล้าน

ขณะที่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณนักลงทุนกังวลถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไทยตามขึ้นไปด้วย สะท้อนได้จาก Bond Yield ไทยระยะสั้นปรับตัวขึ้นมาเร็วและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ดังภาพทางด้านล่าง ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย)

 

เฟดใช้ยาแรง ผลักดันเงินต่างชาติไหลออก มิ.ย.กว่า 2 หมื่นล้าน

 

โดยฝ่ายวิจัยฯคาด ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งภายในปีนี้ 0.50%-0.75% เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

 

โบรกหั่นเป้าหมายดัชนี SET 

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ประเมินว่าหาก ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจริง จะกดดันให้เม็ดเงินไหลกลับไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย และตามกลไกตลาดหุ้นจะถูกซื้อขายบน P/E ที่ลดลง ถ้ากนง. มีการขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งหรือ 0.25% จะกดดันให้ระดับ P/E ซื้อขายลดลงจาก 20.36 เท่า เหลือ 19.38 เท่า ลดลงเกือบ 1 เท่า หรือต้องใช้ EPS เพิ่มขึ้นถึง 5% ราว 4.5 บาทต่อหุ้น หรือราว 5 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว และถ้านำP/E เหมาะสม ในแต่ละระดับดอกเบี้ยนโยบายไทย มาคูณกับ EPS65F ที่ 88.9 บาท/ หุ้น จะได้เป้าหมาย SET Index ปลายปีที่ระดับ 1643 จุด  ในกรณีกนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% 

 

"ถ้ากนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในปีนี้ เป้าหมายดัชนีSET จาก 1810 จุด จะลดลงเหลือ 1722 จุด แต่ถ้ากนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เป้าหมายดัชนี SET จะลดลงเหลือ 1643 จุด "

 

ด้านบล.ทิสโก้ นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า จากการที่นาย Jerome Powell ประธานเฟด ระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า มีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 26 - 27 กรกฎาคมนี้ อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 75 bps อีกครั้ง หรืออาจปรับขึ้นอีก 50 bps  

 

แนวโน้มของดอกเบี้ย (Dot Plot) ชี้ว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นจนสู่ระดับ 3.25 - 3.50% ณ สิ้นปีนี้ หรือปรับขึ้นอีก 1.75% (175 bps) สำหรับปี 2566 คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นแตะระดับ 3.5 - 3.75% และลดลงอยู่ที่ระดับ 3.25 - 3.5% ในปี 2567 

 

โดยคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาว (Longer-run Rate) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.5% จากเดิม 2.4% ด้านประมาณการเงินเฟ้อ Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้นสอดรับกับมุมมองดอกเบี้ยที่เข้มงวด (Hawkish) ขึ้นอย่างมาก โดยปรับเงินเฟ้อ PCE ปีนี้ขึ้นเป็น 5.2% จากเดิมเดือน มี.ค. ที่ 4.3% 

 

ทั้งนี้แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เข้มงวดขึ้นอย่างมากนับเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจให้ชะลอลงอย่างรวดเร็วจนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการตัวเลขเศรษฐกิจต่อจากนี้อย่างใกล้ชิด โดย Bloomberg Economics มองความเสี่ยงเกิด Recession ต้นปี 2567 มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 72% จากเดือนเมษายนที่คาดว่ามีโอกาสเพียง 45% ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย