เร็ว ๆนี้ "สยามพิวรรธน์" ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำของประเทศไทย เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ( Perpetual Bond) ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก สูงสุด 5.50% ต่อปี เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุน High Net Worth เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ออกหุ้นกู้ชัวนิรันดร์
เรามาทำความรู้จักหุ้นกู้ประเภทนี้ รวมถึงข้อจำกัดเฉพาะที่ทำให้ "หุ้นกู้ชัวนิรันดร์ " ต้องกำหนดดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้โดยทั่วไป "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" รวบรวมให้ดังนี้
หุ้นกู้ VS หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แตกต่างกันอย่างไร
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆของบริษัท เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นกู้ ก็จะอยู่ในสถานะ “เจ้าหนี้” และบริษัทที่ออกหุ้นกู้ จะอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้” โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุ
ขณะที่"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" หรือ "Perpetual bond" มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปอีก แต่ภายใต้ “ผลตอบแทนสูง” ก็มาพร้อมกับลักษณะเฉพาะที่ทำให้ตราสารหนี้ชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงกว่า
คลิกอ่านเพิ่ม : “สยามพิวรรธน์”ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ดอกเบี้ยสูงสุด 5.50%
5 ลักษณะเฉพาะของ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์
1.ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท: ตราสารหนี้ทั่วไปจะกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ชัดเจน แต่หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะไม่กำหนดวันไถ่ถอนไว้ โดยผู้ออกจะทำการไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ดังนั้นอาจมีอายุยาวนานเป็นร้อยปีก็ได้จึงจะเลิกบริษัท และหากถ้าต้องเลิกบริษัท ผู้ออกก็อาจมีเงินไม่พอที่จะมาไถ่ถอนหุ้นกู้ก็ได้ นักลงทุนจึงมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเงินต้นคืนช้ามาก ๆ หรือได้ไม่ครบจำนวน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความใกล้เคียงกับทุน
2.สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด: การลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอนจึงอาจไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนนัก ดังนั้น หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ส่วนใหญ่จึงกำหนดให้ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (Call option) เช่น วันครบกำหนด 5 ปี นับจากวันออกหุ้นกู้ หรือวันชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แต่ละครั้ง ภายหลังจากปีที่ 5
โดยปกติผู้ออกมีแรงจูงใจหลายอย่างในการไถ่ถอนก่อนกำหนด แรงจูงใจหลักข้อหนึ่งมาจากหลักเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่จะนับเป็นทุนครึ่งหนึ่งในช่วง 5 ปีแรก หลังจากนั้นจะถูกนับเป็นหนี้ทั้งจำนวน บริษัทส่วนใหญ่จึงมักจะไถ่ถอน Perpetual Bond เมื่ออายุครบ 5 ปีเพื่อมิให้อัตราส่วน Debt to equity (DE ratio) สูงขึ้น และเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นเมื่อครบ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ และที่สำคัญนักลงทุนอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ต่อสถานะทางการเงินของบริษัทหากไม่เรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด
อย่างไรก็ดีในทางกฎหมาย บริษัทไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องไถ่ถอนก่อนกำหนด ดังนั้นนักลงทุนจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนช้า ไม่อย่างนั้น นักลงทุนก็ต้องทำการขายในตลาดรองหากไม่ต้องการถือต่อ ซึ่งตลาดรองของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มีสภาพคล่องที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ต้องใช้เวลานานหรือขายได้ที่ราคาไม่ดีตามที่คาดหวัง
3.สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข: ปกติตราสารหนี้ทั่วไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาที่กำหนดไว้เสมอ แต่สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ผู้ออก มีสิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้แม้ว่าบริษัทจะมีกำไร ซึ่งเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับหุ้นบุริมสิทธิที่ถือว่าเป็นส่วนของทุน หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จึงมีชื่อเป็นทางการว่า “ตราสารหนี้ด้อยสิทธิคล้ายทุน”
ทั้งนี้การเลื่อนการชำระดอกเบี้ยนี้จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนต่ำลง ยิ่งถ้าเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปนานเท่าไรผลตอบแทนเฉลี่ยก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น แต่หากบริษัทเลื่อนชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ บริษัทจะไม่สามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ และการเลื่อนชำระดอกเบี้ยอาจทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงได้ ดังนั้นถ้าบริษัทไม่มีปัญหาจริงๆ ก็น่าจะจ่ายดอกเบี้ยตรงตามเวลาที่กำหนดไว้
4.เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ: หมายความว่าหากบริษัทล้มละลาย ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมายในการได้รับชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 3 ถัดจากผู้ถือตราสารหนี้มีประกัน (Secured Bond) และผู้ถือตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ดังนั้นผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิอาจได้รับการชำระคืนไม่เต็มจำนวน หรือหากบริษัทไม่มีทรัพย์สินเหลือเลย ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิก็อาจจะไม่ได้รับเงินคืนเลย ผู้ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินคืนสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป
5.หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ไม่มีคุณสมบัติเรื่องการผิดนัดไขว้ (Cross-default) ที่มักจะกำหนดไว้ในหุ้นกู้ทั่วไป ดังนั้นหากผู้ออกมีการผิดนัดไขว้ หรือมีการผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่น สัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่น ก็จะไม่ทำให้ผู้ออกเข้าเงื่อนไขของการผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์นี้
คลิกอ่านเพิ่ม : หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ Perpetual Bond น่าลงทุนหรือไม่ เหมาะกับใคร
ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เสียเปรียบเจ้าหนี้รายอื่น เนื่องจากเมื่อผู้ออกผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้อื่น อาจทำให้เจ้าหนี้รายนั้นมาเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนที่อาจส่งผลให้ผู้ออกขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ย โดยผู้ออกอาจทำการเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไป หรืออาจมีความเสี่ยงถึงขั้นได้รับชำระเงินต้นไม่ครบจำนวนหากบริษัทต้องเลิกกิจการไป
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เหมาะกับใคร
จากลักษณะสำคัญทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิโดยทั่วไป รวมถึงมีสภาพคล่องในตลาดรองค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูง ต้องการแบ่งเงินมากระจายลงทุน หรือเป็นนักลงทุนที่มีเงินเย็น ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะใช้เงินภายในระยะเวลาอันใกล้ เพราะหากไม่ต้องการถือต่อ ก็ต้องทำการขายในตลาดรองที่มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ
อ้างอิงข้อมูล : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA)