ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2ปี2565 มีแนวโน้มจะเติบโตได้มากกว่า 3%
โดยมีปัจจัยหนุน จาก การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 9.9% มูลค่าการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องได้ 9.7% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 1.5 ล้านคน ซึ่งทั้งปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาจำนวน 6 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม สัญญาณรายได้ที่ดีขึ้น ทั้งรายได้เกษตรและแรงงานนอกภาคเกษตรที่คาดว่าจะขยายตัว16.7%และ 10.3% จาก 6.6%และ9.2%ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
ดังนั้น เชื่อว่าตัวเลขการบริโภคจะออกมาดีขึ้น และนักท่องเที่ยว ปีนี้มี Up Side พอสมควร แต่ก็มีความเสี่ยงขออย่าให้มีกลายพันธุ์จนเกิดล็อคดาวน์ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4
วันนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆและทำให้เชื่อว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง (K Shape)ซึ่งบริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปเติบโตเท่าระดับก่อนโควิด-19 ราวไตรมาสที่ 1ปี66
ซึ่งการกลับเข้าสู่ระดับปกติช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซียกลับมาปีที่แล้ว มาเลเซียกลับมาฟื้นแล้วเมื่อต้นปีนี้ แลัฟิลิปปินส์น่าจะฟื้นตัวในไตรมาส3
โจทย์ของธปท.คือ การทำนโยบายการเงินให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องไม่สะดุด(Smooth takeoff) โดยต้องบาลานระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน เงินเฟ้อหรือเสถียรภาพด้านราคา
เพราะเงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อย หรือหากเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องนานจะทำให้คนคาดการณ์เงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อยๆและยากที่จะปรับลดลงผู้ประกอบการอาจปรับขึ้นราคาสินค้าและลูกจ้างอาจขอขึ้นค่าจ้างต่อเนื่องยิ่งทำให้ เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด หรือเงินเฟ้อเพิ่มเร็วขึ้น
ส่วนระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติไม่สะดุด ซึ่งสถาบันการเงินยังเป็นกลไกส่งผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปราะบางและ
สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตได้ 6.4% สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
"สิ่งที่เป็นห่วงมากขึ้นตอนนี้คือความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่ง การส่งผ่านต้นทุนกระจายไปยังสินค้าหลายหมวดขึ้น โดยเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะพีคที่ระดับ 7.5%ในไตรมาสที่ 3 จากนั้นจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.2%ในสิ้นนี้และปี66อยู่ที่2.5%ซึ่งจะเห็นการปรับกลับสู่กรอบเป้าหมาย1-3%ในไตรมาส2ปี66"
ผู้ว่าการธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจนนโยบายหรือมาตรการทางการเงินแบบวงกว้างจึงมีความจำเป็นลดลงและสามารถทยอยปรับกลับสู่ปกติได้
"นโยบายการเงิน"แม้เงินเฟ้อที่สูงจะมาจากปัจจัยด้านอุปทานซึ่งนโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถจัดการได้โดยตรงแต่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่านโยบายการเงินจะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ในทางกลับกันหากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอีกแต่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงลดลงไปอีกกลายเป็นการเหยียบคันเร่งให้เศรษฐกิจ
ทั้งนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดนั้น ควรทำแต่เนิ่นๆเมื่อมีเมื่อเห็นสัญญาณเพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลาหากช้าเกินไปอาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดและต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อดูแลในภายหลังซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชน
ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงยังไม่ช้าไป โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่ขึ้นทีเดียวแต่ต้องค่อยๆปรับ ทยอยถอนคันเร่งเพื่อให้เป็น Smooth Take off สำหรับเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
แต่ยังไม่ต้องเหยียบเบรคหรือเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงเร็วไปจนประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันและทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการที่สุด
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบันนั้น ไม่ได้มาจากปัจจัยเงินทุนไหลออกแต่มาจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเป็นหลัก และปกติเงินบาทมักเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอกทิศทางสกุลเงินต่างประเทศถึง 86%
นอกจากนี้ในประเด็นส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯที่กว้างขึ้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆเช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเสถียรภาพของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยติดลบ-1.25%เมื่อเทียบดอกเบี้ยสหรัฐ ขณะที่ประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐยังเผชิญเงินไหลออก เช่น อินเดียมีส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นบวก 3.15%แต่เงินทุนฯไหลออก -31.7พันล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซียส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นบวก1.75%ก็มีเงินทุนไหลออก-3.0พันล้านดอลลาร์
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ผลตอบแทนจากการลงทุน 2.การตีมูลค่าของสินทรัพย์หรือValuation และ3. การดำเนินนโยบายค่าเงินของธปท.
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์กลับมาอยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก เนื่องจาก การแข็งค่าของ สกุลเงินดอลลาร์ และการซื้อขายทองคำของคนไทยก็มีส่วน
ปัจจุบัน เสถียรภาพการเงินของไทยไม่น่าเป็นห่วงมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมากมาอยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ(สูงกว่าหนี้ระยะสั้น2.6เท่า)หรือ 51% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 12 และ 6 ของโลกตามลำดับจากปี 40 ซึ่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 9พันล้านดอลลาร์สหรัฐ