แบงก์กรุงเทพ ชี้ “ท่องเที่ยว-ส่งออก” เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

23 ก.ค. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 14:36 น.

แบงก์กรุงเทพ ชี้แนวโน้มครึ่งปีหลังยังเติบโตดี ท่องเที่ยว - ส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปได้ดี ห่วงสินทรัพย์ดิจิทัลกระทบภาคการเงิน

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยในงานเปิดหลักสูตรโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565  “Next chapter for wealth : เปิดโลกสร้างความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า

 

แนวโน้มธุรกิจของธนาคารในครึ่งปีหลัง ยังมีการเติบโตที่ดีและต่อเนื่อง เมื่อเทียบจากไตรมาส 2/65 และงวดครึ่งปี 2565 โดยธนาคารยังให้ความสำคัญกับการตั้งสำรอง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น และ การขยายธุรกิจยังต้องมีความระมัดระวัง

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังพึ่งพาการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งขณะนี้เครื่องยนต์ดังกล่าวยังไปได้ดี แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ หนี้ที่ปรับโครงสร้างในช่วงการแพร่ระบาดโควิดจะกลับมาปกติได้มากน้อยอย่างไร

 

“เศรษฐกิจในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายที่ภาคธนาคารต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลง และ ความผันผวนที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะ Digital asset ที่ตอนนี้เกิดความกังวลไปถึงภาคการเงิน แต่เชื่อว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้”

 

 อย่างไรก็ดีธุรกิจในเครือของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น บล. , บลจ. , ประกันชีวิต , ประกันภัย ยังสร้างรายได้ให้กับธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนในทุกด้านเพื่อเสนอการบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกับลูกค้า แต่ธนาคารก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติม เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถทำงานด้วยตนเองได้ทุกอย่าง

 

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานกำไรสุทธิสำหรับงวดแรกปี 2565 จำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากงวดแรกปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.18 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 19.8 ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์

 

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 50.4

 

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 14,843 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรองโดยพิจารณาถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงอยู่

 

ด้านผลประกอบการของธนาคารกรุงเทพไตรมาส 2 ปี 65 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,652,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากสิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ

 

สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 232.5 ขณะที่เงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 3,147,149 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน