รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการประกาศระงับการเพิกถอนเงินของนักลงทุนของบริษัทซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของ ธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าจะส่งผลกระทบต่อ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในไทยโดยรวม ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และอาจลามถึงฟินเทคสตาร์อัพทั้งหลาย ฉะนั้น ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความเสียหายของนักลงทุน และกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้ดีขึ้น
รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากอุตสาหกรรมสินทรัพย์การลงทุนดิจิทัลโลกฟองสบู่แตกและเข้าสู่ภาวะขาลง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะยังคงดำรงอยู่อย่างยาวนานจนกว่ากลไกราคาจะปรับสมดุลได้ การขายกิจการและการเปลี่ยนเจ้าของและผู้ถือหุ้นจะเกิดเพิ่มขึ้น พร้อมกับการลดขนาดองค์กรและปลดคนออกจากงาน ตอนนี้อาจต้องจับตาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนดิจิทัลขนาดใหญ่อย่างไบแนนซ์ ( Binance) เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเข้าร่วมลงทุนอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามความเสียหายในระดับพันล้านบาทยังไม่ส่งผลรุนแรงต่อตลาดการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินโดยรวม
ขณะเดียวกัน เม็ดเงินจำนวนหนึ่งที่เคยลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากกว่า และความเสี่ยงต่ำกว่าแทน โดยเฉพาะในยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยกรณี Zipmex น่าจะเป็นเพียงสัญญาณแรกอันเป็นผลจากปฏิกิริยาลูกโซ่จากการร่วงลงของคริปโตเคอร์เรนซี และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้บริษัทซื้อขายคริปโตจำนวนหนึ่งล้มละลาย ปิดกิจการและขาดสภาพคล่อง
ยกตัวอย่างกรณีของ บาเบลไฟแนนซ์ และ เซลเซียส เน็ตเวิร์ก สองบริษัทล้มละลายและขาดสภาพคล่องจึงส่งผลกระทบต่อ Zipmex Global และคาดว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับ Zipmex นี้จะส่งผลต่อดีลการซื้อ Bitkub ของ SCBx ด้วย นอกจากนี้ มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลงทุนใน Zipmex คือ บริษัท แพลน บี มีเดีย (70 ล้านบาท) บริษัท มาสเตอร์แอด (197 ล้านบาท) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (1% ของทุนจดทะเบียน Zipmex)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตลาดคริปโตจะเข้าสู่ภาวะขาลง แต่ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศรวมทั้งไทยก็ยังมีโอกาสกลับมาเติบโตได้อีกในอนาคต แต่อาจเป็นอนาคตที่ต้องรอกันยาว อย่างน้อย 2-3 ปี
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทางการ (ก.ล.ต.) ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การไปตรวจสอบบริษัทที่ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละแห่งว่า ยังคงมี Digital Assets อยู่ครบหรือไม่ มีการยักย้ายถ่ายเทไปที่ไหนหรือไม่ หรือ เอาไปลงทุนต่อ หรือไปฝากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ไหนหรือไม่ การดำเนินการดังกล่าวได้รับความยินยอมจากนักลงทุนผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งตามเงื่อนไขของ ก.ล.ต. นั้น มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ห้ามนำเงินลงทุนหรือทรัพย์สินของลูกค้าไปหาประโยชน์อื่น
แนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอาจต้องมีการปรับและตอบสนองต่อนวัตกรรมการลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเพื่อคุ้มครองนักลงทุน เพื่อให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีอยู่สองประเภทใหญ่ คือ คริปโตเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล
ในส่วนของโทเคนดิจิทัล (Digital Token) แบ่งย่อยออกเป็น Investment Token ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ และ Utility Token ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ดังนั้น การออกมาตรการกำกับต้องแตกต่างกันและต้องครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัลทุกลักษณะ และต่อไปก็จะมีพัฒนาให้ซับซ้อนขึ้นไปอีก หากไม่ครอบคลุมดีพออาจมีคนใช้ช่องโหว่ของระบบการกำกับดูแลและกฎหมาย หาประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรมเอาเปรียบนักลงทุน หรือแม้กระทั่งฉ้อโกงประชาชนได้ จึงขอเสนอให้ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแนวทางและมาตรการในการกำกับดูแลการออกเสนอขายคริปโตเคอร์เรนซี การทำ Crypto Mining, การให้กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto Lending) การทำ Custodian และการทำ Wallet Provider ต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานกำกับตลาดการเงิน กฎหมายว่าด้วยตลาดการเงิน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการลงทุน ต้องให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีและกลโกงหรือการเอาเปรียบนักลงทุนในรูปแบบต่างๆด้วย
สำหรับการฉ้อโกงเงินลงทุนในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีนั้นมีหลากหลายวิธีและรูปแบบ วิธีหนึ่งที่มีการใช้กัน คือ การเข้ามาเจาะระบบโดยแฮกเกอร์ เป็นการแฮกเข้ามาในระบบการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ DeFi การแฮกระบบ DeFi แม้ทำได้ยากแต่ก็ทำให้เกิดการสูญเสียเม็ดเงินของนักลงทุนไปแล้วในระดับหนึ่งพันล้านดอลลาร์
เราสามารถแบ่ง รูปแบบของวิธีการฉ้อโกงทางการเงิน ได้หลายรูปแบบ ดังนี้