นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ว่า หาก กนง.มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งถึงเวลานั้นก็จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ที่กู้เงินแน่นอน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือสถาบันการเงิน ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่าให้กระทบกับลูกค้ามากเกินไป ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบในแง่ของกำลังซื้อด้วย
“ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นด้วย และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ แม้ภาวะเงินเฟ้อของไทยจะมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ไม่ใช่จากความต้องการบริโภคที่มากเกินไป ซึ่งจากวิกฤตซ้อนวิกฤต จากโควิดและราคาพลังงาน ที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่ง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเข้ามาช่วยในเรื่องของกำลังซื้อ” นายอาคม กล่าว
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะมีส่วนที่กระทบต่อหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่หนี้ของรัฐบาลจะเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ แต่ในการระดมทุนในระยะต่อไปก็อาจกระทบให้ต้นทุนสูงขึ้นได้
“ตอนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ก็ยังไม่ได้ปรับขึ้นมามาก ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยก็เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะถดถอย แต่ทางสหรัฐก็ยืนยันแล้วว่า เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้นก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ปรับขึ้นมาก ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรไทยก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน” นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตามมองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ก็เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างมากจนเกินไป เพราะจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด