นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าการเพิ่มทุนของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) โดยระบุว่าขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนของแผนฟื้นฟูการบินไทยก่อน หลังการบินไทยได้ยื่นศาลล้มละลายกลาง แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อปรับรายละเอียดการจัดหาแหล่งทุนใหม่ พร้อมยืนยัน กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนแผนฟื้นฟูฯ เพื่อให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้โดยเร็ว และกลับเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เร็วที่สุด
"เข้าใจว่าก่อนหน้านี้การบินไทยต้องการเติมสภาพคล่องที่ 50,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น ก็ลดวงเงินเหลือ 25,000 ล้านบาท และขณะนี้ที่เริ่มกลับมาบินได้ก็คาดจะลดลงอีกเหลือประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท ก็ขอรอความชัดเจนของแผนฯก่อน" นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้นายอาคมยังกล่าวถึงการแปลงหนี้เป็นทุนนั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่กระทรวงการคลังต้องทำ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ ไม่ให้ต่ำกว่า 40% ซึ่งเป็นหลักการเดิมของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ขณะที่การเติมสินเชื่อใหม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับแบงก์รัฐให้เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งพิจารณาในเรื่องของการเพิ่มทุนด้วย
"ตอนนี้ กระทรวงการคลัง ซึ่งรวมถึง ธนาคารออมสิน กองทุนวายุภักษ์ และ เอ็กซิมแบงก์ ถือหุ้นในการบินไทยรวมกันประมาณกว่า 40% ถ้าเราไม่แปลงหนี้เป็นทุน และเพิ่มทุน หุ้นเราจะไดรูทลงมา เราก็คิดว่า เรารับไม่ได้ เพราะในขณะที่คนอื่นแปลงเราไม่ได้แปลง หุ้นจะไดรูทลง” นายอาคม กล่าว
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาล ได้ประกาศเปิดประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจการบินเริ่มกลับมาคึกคัก เพิ่มเส้นทางการบิน มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สายการบินต้นทุนต่ำ ที่เป็นลูกหนี้ของเอ็กซิมแบงก์ เริ่มทยอยชำระหนี้ตามข้อตกลงแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดี ของการฟื้นตัวธุรกิจการบิน เพราะท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก และยังทำให้เอ็กซิมแบงก์ นำเงินไปช่วยเหลือธุรกิจอื่นต่อไป
สำหรับสายการบิน ที่เอ็กซิมแบงก์ ได้ให้ความช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย, บางกอกแอร์เวย์ส, เวียตเจ็ท, การบินไทย, ไทยสมายล์ โดยการช่วยเหลือนั้น เน้นการจ่ายเงิน เพื่อรักษาการจ้างงาน พนักงานการบิน และพนักงานที่จำเป็นต้องทำงานต่อเนื่อง หากเปิดประเทศ จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการการบินได้ทันที โดยปล่อยสินเชื่อไปราว 6,000 ล้านบาท