นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อสังหาฯ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ” ภายในงานสัมมนา “PROPERTY INSIDE 2022 ทางรอดอสังหาฯ หลังโควิด-ไฟสงคราม” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าภาคอสังหาฯ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะมีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและลึกมาก
โดยภาคอสังหาฯ ถือเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ วัดได้จากยอดการโอน การจดจำนอง หรือยอดการขออนุญาตก่อสร้าง ซึ่งหากมียอดเหล่านี้เกิดขึ้น จะทำให้ในระยะอีก 6 เดือนข้างหน้ามีการลงทุน หรือ การก่อสร้างเกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง และมาตรการ LTV ที่จะสิ้นสุดมาตรการในช่วงปลายปี 65 นี้ กระทรวงการคลัง เตรียมหารือ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงมหาดไทย ในการพิจารณาขยายอายุมาตรการ เพื่อช่วยหนุนให้เศรษฐกิจในภาคอสังหาฯ สามารถโตได้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 66
นายอาคม กล่าวด้วยว่า กรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายให้ไหลออกจำนวนมากนั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการจับตาอย่างใกล้ชิดแล้ว ดังนั้นยังต้องรอดูทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้อีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ซื้ออสังหาฯ และผู้ประกอบการ ดังนั้นในแง่ของการกำกับอัตราดอกเบี้ยจึงมีความสำคัญ พร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ในการกำหนดนโยบายต่างๆ
“ที่จะไปหารือกับ ธปท. ก็คงจะดูในเรื่องของการกำกับดูแลดอกเบี้ยสินเชื่อของแบงก์เอกชนและของรัฐเอง ซึ่งหาก กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็คงต้องดูในเรื่องของภาคตลาดเงินด้วย เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเป็นภาระมากจนเกินไป” นายอาคม กล่าว
ขณะที่การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกันอยู่ แต่เนื่องจากสถานะกระแสเงินสดของกองทุนฯ ขณะนี้ ก็อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการที่จะปล่อยกู้บ้าง แต่ในส่วนของกระทรวงการคลังไม่ได้เบรกในเรื่องของการที่กองทุนน้ำมันจะกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแต่อย่างใด
นายอาคม ยืนยันด้วยว่า ในเรื่องของราคาน้ำมันแพงนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งล่าสุดได้มีการประชุมในคณะทำงานเฉพาะกิจ ในสภาความมั่นคง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อมาดูในเรื่องของระดับราคาสินค้า รวมทั้งจะมีการออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือเป็นช่วงๆ ด้วย