KKP Research เตือน! เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ ‘จักรวาลคู่ขนาน’ แรงกดดันอื้อ

03 ส.ค. 2565 | 06:34 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2565 | 13:45 น.

KKP Research จับตาผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า -เหตุเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “จักรวาลคู่ขนาน” แรงกดดันจากสถานการณ์ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และโลกาภิวัตน์เปลี่ยนโฉมสิ้นเชิง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) สำหรับปีนี้ KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ โดยคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 3.3%

 

ทั้งนี้  มาจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การขยายตัวของการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวที่กลับมามากกว่าที่คาด และรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีความน่ากังวลหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงอย่างชัดเจน และหลายภาคเศรษฐกิจยังไม่กลับไประดับก่อนเกิดปัญหาโควิด

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังเจอความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับขึ้นตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายได้และเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับตัวเป็นขาขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยในระยะเวลาข้างหน้าจนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

“ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้กำลังจะหมดไป แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง และไม่ทั่วถึง หลายภาคส่วนยังไม่กลับไปจุดเดิมก่อนวิกฤตโควิด และภาคครัวเรือนและธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบและมีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ คำถามสำคัญคือเราจะวางแผนกันอย่างไรในโลกใบใหม่นี้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

 

นอกจากปัจจัยระยะสั้นแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงและมีความเสี่ยงที่จะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อม เช่น พัฒนาด้านเทคโนโลยี กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

 

ดังนั้น ทางออกสำคัญของเศรษฐกิจไทยในโลกยุคใหม่ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา

 

การยกระดับคุณภาพการศึกษาและทักษะแรงงาน การเปิดเสรีแรงงานและบริการ การลดการผูกขาด ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส