คลัง ชี้ ถึงเวลาใช้นโยบายการเงิน-การคลัง ในภาวะปกติ

10 ส.ค. 2565 | 06:44 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 13:53 น.

“อาคม” ส่งสัญญาณถึงเวลาใช้เครื่องมือดำเนินนโยบายการคลัง-การเงิน แบบเดียวกับช่วงภาวะปกติ หลังโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้น พร้อมย้ำขอความร่วมมือแบงก์รัฐ-เอกชน ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสะดุด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ว่า ยังต้องรอติดตามการแถลงหลังการประชุม ของ กนง. ว่าจะให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยใดมากกว่ากัน ระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง หรือ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของเงินทุน

 

เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐมีความต่างกันมากขึ้น อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ ดังนั้นจึงต้องลดช่องว่างของดอกเบี้ยบ้าง เพื่อรักษาไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่ง ธทป. ได้ชี้แจงว่าขณะนี้เงินทุนยังไม่ได้ไหลออกมาก และยังมีเงินทุนจากต่างชาติเข้ามา ก็ถือเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิด ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจ แต่เมื่อโควิดคลี่คลายลง ธุรกิจเริ่มเดินได้ เศรษฐกิจเริ่มเดินได้ เครื่องมือการเงินและการคลัง ก็ต้องกลับมาใช้เครื่องมือแบบในภาวะปกติ เช่น การจัดหารายได้ภาครัฐในการขยายฐานรายได้ การส่งเสริมการส่งออก ส่วนภาคการเงินเครื่องมือที่สำคัญ คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ เครื่องมือก็ต้องทำงานปกติ” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการหารือร่วมกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในการขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ เช่นเดียวกับที่กระทรวงการคลังก็ได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินของรัฐ ในการตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

 

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ที่จะส่งผ่านไปยังสถาบันการเงินในการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม และดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้มักขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยฝั่งเงินฝาก แต่เชื่อว่าสถาบันการเงิน ยังต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย เพราะหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งยอดการขยายสินเชื่อได้เช่นกัน” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ขณะที่มาตรการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เหลือ 0.125% ต่อปี จากเดิม 0.25% ต่อปีไปจนถึงสิ้นปี 65 นั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงกำหนดและยังมีเวลา ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการขอความร่วมมือในการตรึงดอกเบี้ย

 

เนื่องจากกรณีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ นั้นยังมีความจำเป็น และกระทรวงการคลังได้ลดการนำส่งเงินลงให้ถึง 2 ปี ซึ่งในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย หากเป็นฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็จะดูในเรื่องของกำไรขาดทุน แต่ฝั่งแบงก์รัฐจะดูในเรื่องของการสนองนโยบายของรัฐในการดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้เกิดแบงก์รัฐขึ้นมาตั้งแต่แรกแล้ว