นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ในประเด็นการเก็บเงินสำหรับการอุทธรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากกรมพบปัญหาการอุทธรณ์ที่ไม่สุจริต ประวิงเวลา หรือเพียงแค่จะใช้สิทธิของตนตามกฎหมายจำนวนมาก
ซึ่งสถิติการอุทธรณ์ของเรื่องที่ไม่ใช่อุทธรณ์ ตามมาตรา 114 จากปีงบประมาณ 2563 มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา 2,062 โครงการ คิดเป็น 24.30% ที่ไม่ใช่อุทธรณ์ตามมาตรา 114 ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา 1,977 โครงการ ไม่ใช่อุทธรณ์กว่า 42.13%
และล่าสุดในปีงบประมาณ 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค.65 มีการยื่นอุทธรณ์มาแล้ว 703 โครงการ ไม่ใช่อุทธรณ์กว่า 41.33% ซึ่งการอุทธรณ์โดยไม่ใช่เหตุเหล่านี้ มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐและการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐมีความล่าช้า กระทบถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“บางครั้งผู้ที่อุทธรณ์เข้ามา ก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าคะแนนของตนเองน้อย หรือบางรายก็อุทธรณ์ในประเด็นข้อสงสัย TOR ซึ่งประเด็นนี้กรมฯจะมีการเปิดให้เข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านแล้วตั้งแต่กระบวนการร่าง TOR ก่อนการเริ่มประมูล โดยการอุทธรณ์เหล่านี้เพื่อประวิงเวลา หรืออุทธรณ์ตามสิทธิ แต่ได้ส่งผลทำให้โครงการและการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐมีความล่าช้า” นางสาวกุลยา กล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวอีกว่า สำหรับสาระสำคัญที่จะมีการปรับแก้ไข อาทิ 1.อัตราค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการอุทธรณ์ โดยจัดเก็บค่าใช้จ่าย ครั้งละ 1,000 บาท ค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.2% ของมูลค่าโครงการที่มีการอุทธรณ์ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2.การคืนเงินค่าใช้จ่าย ครั้งละ 1,000 บาท ในกรณีหน่วยงานของรัฐเห็นด้วยกับข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทุกประเด็น และ 3.การคืนเงินค่าธรรมเนียม ในกรณีคณะกรรมการอุทธรณ์และข้อเรียกร้อง พิจารณาแล้วว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น หรือกรณีหน่วยงานของรัฐไมได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เป็นต้น
นอกจากนี้กรมฯ จะใช้รูปแบบการอุทธรณ์ออนไลน์แทนการรับ-ส่งหนังสือ เพื่อลดขั้นตอนและลดระยะเวลาการดำเนินการ ลดภาระของผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐด้วย รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ New e-GP ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเสนอราคา e – bidding และนำ Smart Contract มาใช้ในการควบคุมสิทธิและระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้เสนอราคา เป็นแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication)