Zipmex เฮ! ศาลสิงคโปร์ อนุญาตคำขอพักชำระหนี้ถึง 2 ธ.ค.65

16 ส.ค. 2565 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2565 | 14:41 น.

Zipmex แจ้งศาลสิงคโปร์ อนุญาตคำขอพักชำระหนี้ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ Zipmex Pte. Ltd. ครอบคลุมระยะเวลาจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565

จากกรณีที่บริษัท Zipmex Asia Pte. Ltd. และ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ Zipmex Pte. Ltd. รวมถึงบริษัทในเครือ (“ซิปเม็กซ์”) ได้ยื่นคำขอพักชำระหนี้ต่อศาลประเทศสิงคโปร์ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (“บริษัทฯ”) ขอแจ้งให้ท่านทราบถึงความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ หลังจากการรับฟังการพิจารณาคำขอของศาลในช่วงเช้าของวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

Zipmex เฮ! ศาลสิงคโปร์ อนุญาตคำขอพักชำระหนี้ถึง 2 ธ.ค.65

ทั้งนี้ คำพิจารณาของศาลนั้นยึดตามสาระสำคัญของเอกสารที่ซิปเม็กซ์ ได้ยื่นประกอบคำขอพักชำระหนี้ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ และความจริงใจในการปรับโครงสร้างหนี้ของซิปเม็กซ์ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

คำพิจารณาของศาล

 

สืบเนื่องจากคำพิจารณาของศาลประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม  2565 ศาลได้พิจารณาอนุญาตคำขอพักชำระหนี้ ตามที่ซิปเม็กซ์ร้องขอ โดยครอบคลุมระยะเวลาจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ซึ่งส่งผลให้ทั้ง 5 บริษัทของซิปเม็กซ์ได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้เจ้าหนี้รายใดก็ตามที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลสิงคโปร์สามารถยื่นฟ้องหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องทางกฎหมายได้ ในระยะเวลาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

 

นอกจากนี้ ศาลยังได้กำหนดให้ทางซิปเม็กซ์มีการจัดประชุมในลักษณะ Town Hall ให้แก่เจ้าหนี้และลูกค้า ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งนี้ เพื่อให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้และลูกค้า อย่างทั่วถึง โดยในการประชุมนั้น ทางซิปเม็กซ์จะต้องอธิบายถึงการดำเนินการในสิงคโปร์ว่ามีความสำคัญต่อเจ้าหนี้และลูกค้าอย่างไร รวมถึงสถานะของการลงทุนต่าง ๆ ที่ผู้ยื่นคำร้องเสนอ ความเป็นไปได้เกี่ยวกับความสำเร็จของข้อเสนอทั้งหลายของนักลงทุน และระดับความจริงจังของนักลงทุน และเมื่อใดที่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึง Z Wallet ได้ โดยทางบริษัทฯ จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง ถึงวัน เวลา และรายละเอียดในการจัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งลูกค้าสามารถติดตามได้ผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการของบริษัทฯ อาทิ อีเมล และเว็บไซต์

การดำเนินการหลังจากนี้

 

1. ภายในกรอบระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งนี้ (ภายในวันที่ 15 กันยายน 2565) ซิปเม็กซ์ จะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.1 การจัดทำรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของซิปเม็กซ์

1.2 การนำส่งรายงานการครอบครอง หรือการเปลี่ยนถ่ายทรัพย์สินของซิปเม็กซ์ ภายใน 14 วัน (หากมี)

1.3 การจัดทำรายการบัญชีของซิปเม็กซ์เป็นระยะ ๆ

1.4 การจัดทำการประเมินผลกำไร และงบกระแสเงินสดจากการดำเนินกิจการของซิปเม็กซ์

1.5 การจัดทำงบรายเดือนของฝ่ายบริหาร

1.6 การชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอพักชำระหนี้ต่อศาลประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ความกระจ่างแก่เจ้าหนี้และลูกค้า พร้อมแจกแจงรายละเอียดของแผนการลงทุน ตลอดจนกำหนดการที่คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการ Z Wallet ได้อีกครั้ง

 

2. ภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งนี้ (ภายในวันที่ 26 กันยายน 2565) ซิปเม็กซ์ จะยื่นคำแถลงการณ์ (Affidavit) เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการต่อศาล

 

3. ในทุก ๆ เดือน จนถึงการสิ้นสุดระยะเวลาการขอพักชำระหนี้ ซิปเม็กซ์ จะมีการรวบรวมข้อมูล และดำเนินการ ดังต่อไปนี้

3.1 การจัดทำงบรายเดือนของฝ่ายบริหาร

3.2 การจัดทำรายงานข้อมูล เพื่อให้ความกระจ่างแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

3.3 นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขอพักชำระหนี้ที่ซิปเม็กซ์ได้รับ (แสดงความสนับสนุน หรือ แสดงความคัดค้าน หรือ อื่น ๆ)

 

อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งของศาลที่เกิดขึ้น ถือเป็นหนึ่งในความคืบหน้าเชิงบวก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ภาครัฐ และนักลงทุนในระดับสากลยังคงมีต่อซิปเม็กซ์ ทั้งยังแสดงถึงโอกาส และความเป็นไปได้เพิ่มเติมของแผนการปรับโครงสร้าง และกลยุทธ์การฟื้นฟูธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนเพิ่มเติม การหานักลงทุนรายใหม่มาร่วมลงทุน ไปจนถึงการกลับมาให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอน้อบรับคำสั่งของศาล และกำลังเดินหน้าทยอยบรรเทาปัญหาจากบริการ Z Wallet รวมถึงการเร่งพัฒนา Eco-system ของเหรียญ ZMT และลงนามบันทึกข้อตกลง (“MOU”) ร่วมกับนักลงทุนหลายราย เพื่อจัดสรรเงินทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนการที่วางไว้ โดยหากเจ้าหนี้ที่ยังมีความประสงค์จะดำเนินการทางกฎหมายกับซิปเม็กซ์ สามารถดำเนินการได้อีกครั้งหลังจากคำสั่งพักชำระหนี้สิ้นสุด

 

สุดท้ายนี้ ซิปเม็กซ์ ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะยาว รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าและชุมชน ผ่านมาตรฐานทางจริยธรรมและกฎหมายที่พึงปฏิบัติ