ชาวบ้านพิจิตรร้อง‘ประยุทธ์’ เปิดเหมืองทองสร้างรายได้

24 พ.ค. 2559 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2559 | 15:22 น.
ชาวบ้านรอบเหมืองทองชาตรี 29 หมู่บ้าน กว่า 5 พันคนบุกศาลากลางจ.พิจิตร ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งถึง"ประยุทธ์" ร้องขอความเป็นธรรมให้กับบริษัทอัคราฯ ชี้อยู่กับเหมือง 15 ปี ไม่มีการขัดแย้ง เพียงแต่มีบางกลุ่มมีเจตนาเข้ามาแฝงหาผลประโยชน์ ยันปิดเหมืองชาวบ้านในชุมชน 4 พันคนต้องขาดรายได้

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านจำนวน 2 9 หมู่บ้าน ที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) จำนวนกว่า 5 พันคน ได้ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร พร้อมยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้กับบริษัท อัคราฯ และเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์อาชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนการเปิดเหมืองแร่ทองคำ อันจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่น โดยมีนายพิษณุ เสนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นผู้รับหนังสือ และกล่าวว่า จะรีบกลับไปทำเรื่องส่งถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ขณะที่นายวรากร จำนงค์นารถ อดีตกำนันตำบลเขาเจ็ดลูก หมู่ 2 บ้านเขาตะพานนาก ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เหมืองแร่ทองคำชาตรีดำเนินงานได้ถึงแค่ปลายปี 2559 เพื่อลดความขัดแย้งของคนในพื้นที่นั้น ทำให้ชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีไม่อาจนิ่งนอนใจได้ จึงได้รวมตัวแสดงจุดยืน และต้องการเปิดเผยความจริงให้นายกรัฐมนตรีและประชาชนโดยทั่วไปทราบว่า ชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่ร่วมกับเหมืองแร่ทองคำชาตรีมากว่า 15 ปี ไม่ได้มีความขัดแย้งอย่างที่กลุ่มคนบางกลุ่มที่มีเจตนาแอบแฝงได้ยกมาเป็นข้ออ้าง และสร้างเรื่องราว เพื่อหาผลประโยชน์ในการปั่นราคาขายที่ดิน ตลอดจนหาประโยชน์จากเงินกองทุนประกันความเสี่ยงที่มีอยู่กว่า 80 ล้านบาท ภายใต้การดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) โดยยกประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นข้ออ้าง และชักจูงชาวบ้านกลุ่มหนึ่งให้เกิดความกลัว โดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพื่อใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ

นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบวงกว้างจากการสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ จะกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม พนักงานของบริษัทและบริษัทรับเหมาช่วงทั้งหมดต้องตกงาน ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 4 พันคน ต้องขาดรายได้ และภาครัฐเองยังสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีปีละ 100 ล้านบาท และรายได้จากค่าภาคหลวง ปีละ 400 ล้านบาท แม้ว่าไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงเหมืองทองคำสูงที่สุดในโลกจากลักษณะการจัดเก็บแบบขั้นบันไดที่ 2.5 – 20 % ก็ตาม

"การปิดเหมืองของอัคราฯ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้รับเหมาและบริษัทคู่ค้าอีกมากกว่า 500 บริษัท โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่และรายสำคัญมากถึง 300 บริษัท เช่น โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอัคราฯได้จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาไปมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินเดือนพนักงานกว่า 1 พันล้านบาท หรือแม้แต่บริษัทรับจ้างขุดเจาะสำรวจพื้นที่หน้าเหมืออย่าง บริษัท บอร์ท ลองเยียร์ จำกัด ที่จ่ายไปจนถึงปัจจุบันกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินเหล่านั้นจะหมุนเวียนในชุมชน 3 จังหวัด

Photo Cover : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559