คลังเชือด “บลจ. เรนเนสซานซ์” สั่งถอนใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์

05 ก.ค. 2566 | 10:48 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 13:20 น.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ บลจ. เรนเนสซานซ์ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เหตุมีพฤติกรรมที่ขาดความน่าเชื่อถือ

(5 ก.ค. 66) รายงานข่าวจากทาง สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค (ประกอบธุรกิจเฉพาะการจัดการกองทุนส่วนบุคคล) และคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เรนเนสซานซ์ จำกัด

โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จากเหตุมีพฤติกรรมที่ขาดความน่าเชื่อถือ ขาดความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และมีข้อบกพร่องอย่างมากในเรื่องของการบริหารงาน และการควบคุมภายใน

สืบเนื่องจาก คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินธุรกิจการจัดการกองทุนส่วนบุคคลของบริษัท ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค และใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยพบว่า บริษัทได้ดำเนินการ ดังนี้ 

1. แสดงรายการฐานะการเงินในรายงานการเงิน โดยไม่มีอยู่จริงหรือไม่ถูกต้อง ได้แก่ มีการเพิ่มทุนโดยมิได้มีเงินทุนเพิ่มจากผู้ถือหุ้น (เพิ่มทุนเทียม) มีการบันทึกบัญชีรายการที่ไม่พบหลักฐานว่ามีอยู่จริง และบันทึกรายการเงินลงทุนไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง รวมทั้งแสดงสินทรัพย์สภาพคล่องในรายงานการดำรงเงินกองทุนเกินจริง

2. ปกปิดอำนาจในการควบคุมกิจการ และขาดระบบการกำกับดูแลกิจการ โดยยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และไม่ได้ขอความเห็นชอบจาก สำนักงาน ก.ล.ต. เข้ามากำหนดและกำกับดูแลนโยบายของบริษัท รวมทั้งบริหารสั่งการ และควบคุมดูแลการดำเนินงานแบบวันต่อวัน (day to day operation) และไม่ปฏิบัติตามกฎบัตรที่กำหนดความถี่ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งบริษัทได้จัดส่งบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในช่วงที่เข้าตรวจสอบ โดยไม่มีการประชุมจริง

3. ขาดความพร้อมในการประกอบธุรกิจทั้งในด้านระบบงานและบุคลากรบริษัท ไม่มีผู้จัดการกองทุนอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีรายการซื้อขายให้กับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล ประกอบกับมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับระบบการจัดการลงทุน ระบบงานรองรับการจัดทำรายงานและงบการเงิน และรายงานการดำรงเงินกองทุน

ทั้งนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า บริษัทมีการดำเนินงานในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (คณะกรรมการ ก.ต.ท.) ซึ่งคณะกรรมการ ก.ต.ท. อาศัยอำนาจตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) สั่งให้บริษัทดำเนินการแก้ไขการดำเนินงานดังกล่าวให้ถูกต้องภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 และได้มีมติขยายระยะเวลาดำเนินการแก้ไขการดำเนินงาน และระยะเวลานำส่งผลการแก้ไขตามคำขอของบริษัทจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2565

ต่อมาบริษัทได้มีคำขอขยายระยะเวลาการแก้ไขการดำเนินงานและระยะเวลานำส่งผลการแก้ไขอีกครั้งถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติไม่ขยายระยะเวลาตามที่ขอมาข้างต้น เนื่องจากตั้งแต่คณะกรรมการ ก.ต.ท. สั่งการในครั้งแรก จนถึงช่วงที่ได้รับการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ตามที่บริษัทขอมา

บริษัทยังไม่ได้แก้ไขการดำเนินงานให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว และยังพบว่าบริษัทมีการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริง รวมทั้งสร้างหลักฐานการดำเนินงานที่แสดงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ตรงต่อความเป็นจริงอีกด้วย ดังนั้น การที่บริษัทไม่สามารถแสดงหลักฐานการแก้ไขการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกรณีข้างต้นได้

จึงเป็นการไม่ดำเนินการแก้ไขหรือไม่สามารถแก้ไขการดำเนินงานตามคำสั่งของคณะกรรมการ ก.ต.ท. คณะกรรมการ ก.ต.ท. จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ สั่งให้บริษัทยุติการให้บริการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา 

สำนักงาน ก.ล.ต. จึงนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ต.ท. ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค ของบริษัท ตามมาตรา 143 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัท โดยให้มีผลตามวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามในคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ต.ท. ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค ของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 และคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามข้อ 13 ของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ/น/ข. 14/2551 เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551

เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัท โดยมีผลในวันเดียวกันคือตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทไม่มีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลภายใต้การจัดการแล้ว และในกระบวนการพิจารณาข้างต้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีการพิจารณาการขอความเป็นธรรมของบริษัทที่ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังทุกครั้งโดยละเอียดด้วยแล้ว

และได้มีมติยืนตามมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เช่นเดิม ในการให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ค ของบริษัทดังกล่าว