thansettakij
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ฟันธง หมดยุค ดอกเบี้ยต่ำ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ฟันธง หมดยุค ดอกเบี้ยต่ำ

09 ส.ค. 2566 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 09:16 น.

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตต่ำกว่า 3.6% ชี้ยังไม่ถึงเวลาลดดอกเบี้ย  เหตุดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไป ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม จึงต้องสร้างสมดุลระยะปานปลาง ระยะยาวที่เหมาะสม

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ "ยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย" ในหัวข้อ "ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย" ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 อาจปรับลดลงจากคาดการณ์ แต่ภาพรวมจะยังเห็นการเติบโตได้ที่ระดับ 3% กลางๆ จากคาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6%

เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้บางช่วงอาจจะเห็นตัวเลขต่ำกว่าคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ได้ประเมินไว้

"GDP ไตรมาส 2/66 นั้น สภาพัฒน์ จะประกาศในเดือน ส.ค.นี้ แนวโน้มอาจจะออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ จากการดูตัวเลขในเบื้องต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวจะไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคและลงทุนเอกชน รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งภาพเหล่านี้ story ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเกิน 4% ขณะที่การท่องเที่ยว แม้นักท่องเที่ยวจากจีนจะไม่เข้ามาเร็วอย่างที่คิด แต่ก็ยังเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ จะอยู่ที่ 29 ล้านคน ซึ่งจะยังช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ แต่การส่งออกอาจไม่ค่อยดีมาก เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีน ทำให้การส่งออกยังไม่ค่อยดีนักในช่วงครึ่งปีแรก แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลัง และช่วงปลายปี จะค่อยๆ ดีขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายเศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า บริบทของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เปลี่ยนไปจากปี 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมาก จนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท. ต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ในขณะที่ปีนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แม้จะฟื้นตัวช้า ไม่ฟื้นเร็วเท่าประเทศอื่น แต่ก็ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อระยะยาว มองว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ดังนั้น โจทย์ของนโยบายการเงินจึงเปลี่ยนไป โดยตอนนี้ต้องเน้นการ Landing ทำให้ Landing ได้ดี จากก่อนหน้านี้ที่เน้น Smooth take off

"ดังนั้นสิ่งที่ต้องดู ไม่ใช่แค่ปัจจัยระยะสั้นเรื่องเงินเฟ้อ แต่ต้องดูภาพเศรษฐกิจระยะยาวด้วย เพราะตอนนี้ การจะลงตรงไหน จะอยู่ตรงไหน เหมือนเป็นการปักหมุดในระยะยาวว่าดอกเบี้ยที่จะอยู่ในระดับที่สร้างความสมดุลระยะปานกลาง และระยะยาวที่เหมาะสมเป็นเท่าไร จะดูแค่ปัจจัยระยะสั้นไม่ได้แล้ว" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับ 3 เรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงิน คือ

1. เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพในระยะยาวหรือไม่ คือ ระดับ 3-4% หากโตเร็วกว่านี้ จะเกิดปัญหาเรื่องความร้อนแรง

2. แนวโน้มเงินเฟ้อ ควรจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ยั่งยืน

3. อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไป ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น

"บริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป โจทย์นโยบายการเงิน จึงต้องเปลี่ยนจาก Smooth take off เป็น Landing การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราได้ถอดออกไปแล้ว ตรงนี้สะท้อนว่า ตอนนี้มันอยู่ใกล้จุดที่จะมีการเปลี่ยน พูดง่าย ๆ ให้ชัดเจน คือ คราวหน้า (ประชุม กนง. 27 ก.ย.) ก็มีโอกาสที่เราจะคง หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรับลงแน่นอน เพราะยังไม่เหมาะที่จะปรับลง จึงอยากให้ดูไป" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าฯธปท.  ระบุว่า เข้าใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลข้างเคียง และสร้างภาระ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีผลในภาพรวม ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการมาช่วยดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ส่วนการส่งผ่านของธนาคารพาณิชย์ หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท. ไม่อยากให้กระทบลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มากเกินไป เช่น รอบล่าสุดที่ขึ้น 0.25% นั้น การส่งผ่านไปสู่อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น

นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) ในระบบ โดยมองว่ามีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) แต่ถือเป็นเรื่องปกติ  และยังไม่พุ่งสูงขึ้นเป็นหน้าผา NPL จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ