ผู้ว่าธปท. ชู 2บทบาท “ สร้างโอกาสตลอดช่วงชีวิตให้คนไทย

29 ก.ย. 2566 | 06:58 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 07:16 น.

ผู้ว่าธปท.ชู 2บทบาทหนุน “ คน : The Economics of Well-Being” ทั้ง การศึกษา-การประกอบอาชีพ-การใช้ชีวิตที่ดีในยามชราภาพ”การ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวสุนทรพจน์ งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 หัวข้อ “คน : The Economics of Well-Being” ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 โดยบเกริ่นถึงเหตุผลสำคัญ 2 ประการสำหรับที่มาของ หัวข้อ “คน : The Economics of Well-Being”ในปีนี้

ประการแรก เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาและการดำเนินนโยบายสาธารณะ คือ การยกระดับ “คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศ”

ประการที่สอง ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากโอกาสครบรอบ 5 ทศวรรษของบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ประพันธ์ไว้เมื่อ 50 ปีก่อน

ข้อเขียนนี้เป็นหนึ่งในบทความที่ได้รับการถ่ายทอดและเผยแพร่ต่อมากที่สุดในสังคมไทย และยังคงมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับยุคสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เราจึงถือโอกาสนี้ทบทวนว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราได้ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความหวังให้กับคนไทยมาได้มากน้อยแค่ไหน ในด้านใดที่เราสามารถตอบโจทย์ที่อาจารย์ป๋วยให้ไว้เมื่อ 50 ปีก่อนได้ดี และในด้านใดที่เรายังห่างไกลจากสิ่งที่ท่านหวังไว้อยู่มาก

พร้อมกับมองไปข้างหน้าว่า จะมีประเด็นอะไรเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดคุณภาพชีวิตของเราบ้างในอนาคต และเราจะพัฒนาโอกาสและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร

ผู้ว่าธปท. ชู 2บทบาท “ สร้างโอกาสตลอดช่วงชีวิตให้คนไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิขยายความเพิ่มเติมว่า        อาจารย์ป๋วย ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าแรกของบทประพันธ์ถึงความหวังตั้งแต่ก่อนเกิดว่า “เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิการของแม่และเด็ก” และกล่าวต่อว่า “ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์”

หากเราเทียบกับในอดีตแล้ว ปัจจุบันเด็กไทยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตมากขึ้น สะท้อนจากภาพรวมที่เด็กไทยมีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้น และมีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีเด็กไทยบางกลุ่มที่ได้รับโภชนาการที่ไม่สมดุล  ทั้งกลุ่มที่ได้รับโภชนาการเกิน

สะท้อนจากเด็กอ้วนที่มีจำนวนมากขึ้น โดยในปี 2565 อยู่ที่ 11% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ และกลุ่มที่ได้รับโภชนาการไม่เพียงพอแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวด้อยโอกาส

ทำให้การเจริญเติบโตชะงักงัน เตี้ยและแคระแกร็น ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 13% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทย สถานการณ์นี้สะท้อนการจัดสรรทรัพยากรที่ยังขาดทั้งประสิทธิภาพและความเท่าเทียม

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเรียน อาจารย์ป๋วยได้กล่าวถึงโอกาสทางการศึกษาไว้ว่า “ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น”

ในปัจจุบัน นับว่าการศึกษาไทยพัฒนาขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เช่น จำนวนปีเฉลี่ยที่คนไทยได้รับการศึกษาได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว จากที่ต่ำกว่า 2 ปีต่อคนเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน มาเป็น 10 ปีต่อคนในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยยังมีความท้าทาย

 เช่น ระดับผลการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ที่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั่วโลกมาตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน  ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้ตามหลังแค่ประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ในคะแนนทั้ง 3 ด้าน

นอกจากนี้ การเข้าถึงบริการทางการศึกษาของคนไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ นักเรียนที่มาจากกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 10% สองในสามคนจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่นักเรียนที่มาจากกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% สัดส่วนของนักเรียนที่จะเรียนต่ออยู่ที่เพียง 4-5% เท่านั้น   โดยในช่วงแรกของการสัมมนาวันนี้ จะมีการนำเสนองานวิจัยและเสวนาเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ของเยาวชนไทยในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป

 

ในช่วงวัยทำงาน อาจารย์ป๋วยได้หวังไว้ว่า “เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจ ว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม”

การมีโอกาสประกอบอาชีพที่ตรงกับความพอใจและความถนัดของแต่ละบุคคล เพื่อให้ใช้ศักยภาพสูงสุดที่ตนเองมี และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมนั้น ต้องมีตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ในภาพรวมแล้ว ตลาดแรงงานไทยมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง

เช่น การที่สัดส่วนแรงงานนอกภาคเกษตรที่เติบโตจาก 25% เมื่อ 45 ปีก่อน เป็นเกือบ 70% ในปัจจุบัน แสดงถึงบทบาทของตลาดแรงงานในการจัดสรรทรัพยากรที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ และสะท้อนว่าแรงงานไทยมีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันตลาดแรงงานไทยกลับประสบปัญหาในการผลิตแรงงานให้มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด เช่น คนที่จบปริญญาตรีบางกลุ่มได้รับค่าจ้างใกล้เคียงกับคนที่จบมัธยม  หรือ

กลุ่มแรงงานอายุน้อยที่มีการศึกษาสูงมีการว่างงานมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยในช่วงที่ 2 ของการสัมมนาวันนี้ จะมีการนำเสนองานวิจัยและเสวนาเรื่องความท้าทายของตลาดแรงงานไทยในประเด็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตลาดแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ในช่วงท้ายของบทความ อาจารย์ป๋วยได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคมซึ่งผมได้จ่ายบํารุงตลอดมา” และ “ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันรักษาโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูก อย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอ หาพยาบาลได้สะดวก”

          ปัญหาที่พบในประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น คือ ภาวะที่ผู้สูงวัย “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยก่อนตาย” กล่าวคือ ช่วงชีวิต (Life Span) ยาวนานขึ้นแต่ช่วงสุขภาพที่ดี (Health Span) ไม่ยาวนานตาม และขาดความมั่นคงทางการเงิน (Wealth Span) คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจับจ่ายใช้สอยและรักษาสุขภาพ

ดังที่เห็นได้จากผลการศึกษาที่พบว่า หนึ่งในสามของผู้สูงอายุในปัจจุบันมีแหล่งรายได้หลักจากบุตรธิดา และอีกหนึ่งในสามมาจากการทำงาน ในขณะที่เหลือ มีแหล่งรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุบ้าง จากบำเหน็จบำนาญบ้าง มีเพียง 1.5% เท่านั้นที่มีแหล่งรายได้หลักจากดอกเบี้ยหรือเงินออมของตน

การจะทำให้สังคมไทยในระยะยาวเป็นสังคมสูงวัยที่ไม่อ่อนแอจำเป็นต้องเพิ่มทั้ง Wealth Span และ Health Span ให้ยาวนานขึ้นตาม Life Span ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับทุกช่วงชีวิตเพื่อทำให้วัยชรามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งท่านจะได้รับฟังในช่วงที่ 3 ของงานสัมมนาวันนี้

 

อาจารย์ป๋วยยังมีความหวังที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความเสมอภาคทางโอกาสของผู้หญิง ท่านปรารถนาว่า “เมียผมก็ต้องการโอกาสต่าง ๆ เช่นเดียวกับผม”

ถึงแม้ว่าเรายังมีปัญหาด้านสิทธิสตรีในหลายด้าน แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ความเสมอภาคทางโอกาสของผู้หญิงไทยได้พัฒนาขึ้นค่อนข้างชัดตลอดช่วงชีวิต นอกจากสัดส่วนของผู้ที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายแล้ว  ผู้หญิงไทยยังเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในการทำงาน

จากรายงานของ Women in Business (WIB) ในปี 2565 บริษัทในประเทศไทยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) สูงถึง 43% ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดของโลก และมีผู้หญิงนั่งตำแหน่งสูงสุดของบริษัทอย่างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) สูงถึง 24% ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

 

จะเห็นได้ว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราสามารถตอบโจทย์ที่อาจารย์ป๋วยให้ไว้เมื่อ 50 ปีก่อนได้ดีในหลายด้าน แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ไปถึงเป้าหมายที่อาจารย์ป๋วยหวังไว้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความท้าทายใด ๆ “ความหวัง” ยังเป็นสิ่งจำเป็น เราหมดหวังไม่ได้ เพราะความหวังช่วยสร้างแรงจูงใจที่ขับเคลื่อนให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ

ในหลาย ๆ ประเทศ ผู้คนหมดหวัง พยายามหาทางอพยพตนเองและครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งและหางานในประเทศอื่น ๆ เพราะขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม เศรษฐกิจไม่เติบโตและขาดเสถียรภาพ

ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ความหวังเป็นสิ่งจำเป็น โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ เพื่อช่วยกันสร้างความหวังให้คนไทยและเพื่อช่วยกันทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีส่วนร่วมในบทบาทดังกล่าว  ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายระบบการชำระเงิน

ประการแรก ในการสร้างความหวังให้คนไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งสร้างโอกาสตลอดช่วงชีวิตให้แก่คนไทย ทั้งโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดีในยามชราภาพ

เช่น การพัฒนาระบบการเงินให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ อย่างทั่วถึง รวมถึงการสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้คนไทยมีชีวิตในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ประการที่สอง ในการทำให้ความหวังของคนไทยเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธกิจในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยความเจริญเติบโตนี้จะช่วยสร้างรายได้ที่เป็นดอกผลของการลงทุนในการศึกษาและประกอบอาชีพของผู้คน

 อย่างไรก็ตาม ความเจริญเติบโตจะต้องควบคู่กับความมีเสถียรภาพด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้อที่สูงมาก หรือหนี้สินที่ควบคุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ อันเป็นการทำลายความหวังของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เสวนาทุกท่าน ที่ให้เกียรติมาร่วมงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานสัมมนาวิชาการประจําปีนี้จะสร้างความตระหนักรู้ จุดประกายความคิดและความหวัง ให้พวกเราทุกคนได้เห็นจุดหมายของคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สร้างได้ด้วยมือของพวกเราเองทุกคน

ดังที่อาจารย์ป๋วยได้ทิ้งท้ายไว้ในบทประพันธ์ของท่านว่า “นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่ควรจะให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”