ปปง.- DSI เร่งสรุปสำนวนคดีโกงหุ้น STARK ส่งอัยการ พ.ย.นี้

20 พ.ย. 2566 | 05:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 07:17 น.

วันนี้ 20 พ.ย. 66 ปปง. ร่วม ดีเอสไอ แถลงความคืบหน้าคดีทุจริตหุ้น STARK เตรียมสรุปสำนวนส่งอัยการสิ้นพ.ย.นี้ เผยไล่ยึดทรัพย์แล้วกว่า 349 ล้าน ยืนยันมีช่องทางยึดทรัพย์ต่างประเทศ เผยผู้สอบบัญชีเลื่อนเข้าพบมาแล้ว 2 ครั้ง

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แถลงความคืบหน้าคดีหุ้น STARK บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ว่า  ปปง.ได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ กับพวกที่เกี่ยวข้องแล้ว 349 ล้านบาท ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.222/2566 รวมทรัพย์สินที่อายัดทั้งสิ้นจำนวน 16 รายการ มีรายละเอียดดังนี้ 

1. นายพีรพัฒน์ เย็นสุดใจ เงินสดจำนวน 745,000 บาท(ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2566)
2. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 

  • เงินสดจำนวน 1 ล้านบาท(ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2566)  
  • บัญชีเงินฝาก 5 บัญชี รวม 101,980,867.01 บาท

 3. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 

  •  บัญชีเงินฝาก 2บัญชี รวม 478,438.46 บาท(ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2566)
  •  เงินลงทุน และหลักทรัพย์ รวมถึง ทรัพย์สินในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย)จำกัด จำนวน 218,420,937.23 บาท( ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2566)

 4. นางสาวยสบวร อำมฤต 

  • บัญชีเงินฝาก 2บัญชี รวม 4,687,210.65 บาท(ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2566)
  • เงินและสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 1,551,810.20 บาท

 5. นายชลชาติ บุญเยี่ยมเยียน บัญชีเงินฝาก 1 บัญชี รวม 20,680,251.42 บาท(ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566)

ปปง. ร่วมกับ ดีเอสไอ แถลงความคืบหน้า คดี STARK

การดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ที่ได้ยึดอายัดไว้ 349 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินสด เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หลักทรัพย์ เพราะเป็นทรัพย์สินที่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ แม้มูลค่าความเสียหายจะมีจำนวนมาก แต่เราก็ต้องยกเครดิตให้ ก.ล.ต. เพราะ ก.ล.ต. ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการอายัดทรัพย์จำนวนหนึ่งไว้พอสมควร

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีทางอาญารายคดี นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กรณี ทุจริตตกแต่งบัญชี บริษัท สตาร์คฯ ว่า การดำเนินคดีนั้น พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เร่งรัดให้สอบสวนต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบริษัท สตาร์คฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม รวมถึงกลุ่มบริษัทลูกข่ายต่างๆ

ในการสอบปากคำคณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำแล้วทั้งสิ้น 160 ราย และได้รวบรวมพยานหลักฐานขยายผลอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว 11 ราย แบ่งเป็น บุคคลธรรมดา 6 ราย และนิติบุคคลอีก 5 ราย และได้ออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 1 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ดังนั้น คาดว่าจะมีการสรุปสำนวนได้ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้.

สำหรับการแจ้งข้อหานั้น ขอให้ผู้เสียหายไม่ต้องเป็นกังวลในส่วนของผู้ต้องหาที่ยังพักอาศัยอยู่ภายในประเทศไทยเพราะว่าในหมายจับได้มีการกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนยังได้มีการแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินสำหรับผู้ต้องหาที่มีพฤติการณ์รับ-โอน หรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 10 ปี

ส่วนผู้กระทำความผิดที่หลบหนีออกนอกประเทศ จะมีการดำเนินการประสานงาน และติดตามตัว รวมทั้งแจ้งความผิดฐานฟอกเงินเพิ่มเติม กรณีทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดที่อยู่ในต่างประเทศนั้น สามารถขอหมายจากศาลแพ่ง เพื่อมีคำสั่งให้ทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศตกเป็นของแผ่นดิน แล้วจึงประสานเพื่อนำเอาทรัพย์กลับคืนมาได้

ในส่วนของผู้เสียหายต้องเตรียมข้อมูลในมูลค่าความเสียหายของตน อย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ว่ามีความเสียหายเท่าไหร่ ได้รับการชดใช้คืนแล้วหรือไม่ ในจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากการให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ 

ทั้งนี้ ในส่วนของ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยให้การปฏิเสธ และยังไม่มีการอายัดทรัพย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีส่วนรู้เห็นแค่ไหน ในฐานะกรรมการ และในการขายหุ้น ได้ประโยชน์หลังการตบแต่งบัญชีหรือไม่

นอกจากนี้ ดีเอสไอได้เตรียมออกหมายเรียกเพิ่มเติมในกลุ่มของผู้สอบบัญชี เป็นบุคคล1 ราย ซึ่งที่ผ่านมาได้เลื่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่มาแล้ว 2 ครั้ง โดยเหตุผลทางด้านสุขภาพ พร้อมหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ 

คลิกอ่าน รายละเอียดคำสั่งยึดทรัพย์