DSI ลั่นมีหลักฐานพอฟ้อง"เอ วนรัชต์" คดี STARK กัน ”ชินวัฒน์ อัศวโภคี“เป็นพยาน

31 ม.ค. 2567 | 09:24 น.
อัพเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 09:58 น.

DSI แจงข้อสงสัย คดี STARK เหตุชินวัฒน์ ไม่ถูกสั่งฟ้อง ยืนยันนำตัวผู้กระทำความผิดทุกคนมาดำเนินคดี ขณะนี้มีหลักฐานเพียงพอดำเนินคดีกับ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ"แล้ว เผยคดีฟอกเงินถูกแยกสอบเป็นอีกกรณี

KEY

POINTS

  • พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดี DSI แจงรายประเด็น ข้อสงสัย และความคืบหน้าคดี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ไม่ถูกสั่งฟ้องตั้งแต่ชั้น DSI แล้ว เนื่องจากไม่พบเส้นทางการเงิน และไม่พบถือหุ้น STARK จึงกันตัวเป็นพยานมัด "ชนินทร์ เย็นสุดใจ"
  • DSI ยืนยันนำตัวผู้กระทำความผิดทุกคนมาดำเนินคดี ขณะนี้มีหลักฐานเพียงพอดำเนินคดีกับ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ"แล้ว เผยคดีฟอกเงินถูกแยกสอบเป็นอีกกรณี

หลังจากกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK ในนามกลุ่ม "ห้อง Stark ตัวจริง" นำโดยนายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ และตัวแทนผู้เสียหาย ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567เพื่อติดตามสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีหุ้นกู้ STATK ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการสั่งฟ้องอดีตผู้บริหารบางรายที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบและลงนามในเอกสารของบริษัทในช่วงที่ก่อเหตุทุจริตตบแต่งตัวเลขทางบัญชีเพื่อล่อลวงนักลงทุน 

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี DSI รักษาราชการแทนอธิบดีDSI ถึงข้อเคลือบแคลงสงสัยของผู้ถือหุ้นกู้ STARK ซึ่ง พ.ต.ต.ยุทธนายืนยันว่า DSI มีเจตนาดีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งแนวทางการดำเนินการของ DSI เช่นนี้ ทำให้มีสัญญาณที่ดีว่า ผู้ที่ต้องรับผิดบางราย มีท่าทีเปิดการรับฟัง และแสดงความต้องการช่วยเหลือเยียวยามากขึ้น 

ซึ่ง DSI ใช้เวลาอย่างรวดเร็วในการสอบสวนดำเนินคดี STARK ซึ่งได้มีการรับเป็นคดีพิเศษ ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2566 มีการสอบพยานบุคคลไปถึง 150 ปาก มีการเดินทางไปสอบพยานในทุกพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดแทบทุกวัน

สำหรับการทำความเห็นทางคดีเห็นควรสั่งฟ้อง ประกอบด้วยนิติบุคคล 5 นิติบุคคล และ บุคคลธรรมดาอีก 6 ราย มี 1 รายที่มีความเห็นสมควรไม่สั่งฟ้อง คือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี  เนื่องจากไม่พบเส้นทางการเงิน ที่ได้จากการระดมทุน ไม่ว่าจากหุ้นกู้ หรือหุ้นเพิ่มทุน ที่ได้มีการไซฟ่อนเงินออกไปยังบริษัทลูก ก่อนจะโอนกลับเข้ามายังบัญชี STARK ว่าเป็นการชำระหนี้โดยลูกหนี้การค้า ซึ่งจากการสอบสวนเส้นทางการเงินพบว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของ นายศรัทธา ,น.ส.ยสบวร และนายชนินทร์ แต่ไม่ปรากฏเส้นทางการเงินไปที่นายชินวัฒน์แต่อย่างใด

รวมทั้งตรวจสอบไม่พบว่านายชินวัฒน์จะได้รับประโยชน์จากการขายหุ้นเนื่องจากไม่พบการถือหุ้น STARK ของนายชินวัฒน์ และไม่พบเจตนาร้ายเหมือนเช่นในกลุ่ม นายชนินทร์ ,นายศรัทธา เหล่านั้น

เมื่อพิจารณาหลักฐานในการเอาผิดนายชินวัฒน์ ถือว่ามีน้อย เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้นายชินวัฒน์เป็นพยาน บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อศาล เพื่อนำไปใช้มัดตัวนายชนินทร์ จึงได้เสนอพนักงานอัยการว่าเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชินวัฒน์ ซึ่งพนักงานอัยการเห็นควรด้วย

คดีหุ้น STARK ที่ได้เกิดความเสียหายขึ้นนี้ จากการสอบสวนพบพยานหลักฐานว่า เกิดจากมีคนวางแผน บงการ ซึ่งผู้ต้องหาหลัก ก็คือผู้ที่ได้หลบหนีไปแล้ว ซึ่งบุคคลคนนี้เป็นผู้ที่มีความรู้ และคร่ำหวอดในวงการธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างดี ซึ่งพบว่าบุคคลคนนี้แม้ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารบริษัท แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นผู้ออกคำสั่งบริหารบริษัท และทุกคนต้องเชื่อฟังคำสั่งบุคคลคนนี้ โดยที่ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานเอกสารใดๆ เนื่องจากเป็นการวางแผนเพื่อไม่ให้มาถึงตนเอง 

โดยนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ได้มีการวางตัว นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ให้เป็น CFO ในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทลูก เพื่อให้สามารถเซ็นเบิกถอนเกี่ยวกับงบ และการเงินได้ และมีน.ส.ยสบวร อำมฤต เป็นเลขาของนายชนินทร์ รวมถึง น.ส.นาตยา ปราบเพชร ที่ร่วมดูแลเกี่ยวกับการเงิน ภายใต้การสั่งการของนายชนินทร์แบบปากเปล่า

ดังนั้นแนวทางการทำความเห็นสั่งฟ้องในชั้น DSI นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ต้องหาหลัก คือ นายชนินทร์ ,นายศรัทธา ,น.ส.ยสบวร ,นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม และนิติบุคคลที่กระทำความผิด  

ต่อคำถามถึงสาเหตุที่ไม่มีการกันตัวนายศรัทธาไว้เป็นพยาน เพื่อชี้การกระทำความผิดของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ  ตามที่เจ้าตัวเคยเปิดเผยผ่านหลายช่องทางว่า นายวนรัชต์เป็นผู้สั่งการด้วยนั้น รักษาการอธิบดี DSI ตอบว่า หลักการของการกันบุคคลเป็นพยานต้องไม่ใช่ผู้ต้องหารายสำคัญ ซึ่งนายศรัทธาถือเป็นผู้ต้องหารายสำคัญ

เนื่องจากมีเส้นทางการเงินเข้าบัญชีนายศรัทธาหลักพันล้านบาท ทั้งยังเป็น CFO ซึ่งซึ่งรับรู้เรื่องราวทั้งหมดมาตั้งแต่ต้น ถือเป็นผู้สมคบคิดกับนายชนินทร์มาตั้งแต่ต้น แต่สำหรับนายวนรัชต์นั้น  ทางดีเอสไอเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่มีอยู่ว่าเพียงพอแล้วในการตั้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดี โดยไม่ต้องอาศัยคำให้การของนายศรัทธาแต่อย่างใด

 

พ.ต.ต. ยุทธนา ยังเปิดเผยต่อไปว่า ในการทำคดีหุ้นสตานั้น ได้แยกการสอบสวนในคดีฟอกเงินออกไปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งหากพบเส้นทางการเงินในภายหลัง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีการใช้นอมินีในการรับเงิน โอนเงิน อันเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือแม้แต่นายชินวัฒน์ ก็จะมีการดำเนินคดีในฐานหนึ่ง และต่างกรรมกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 

ผู้ที่ได้รับทรัพย์จากการกระทำความผิด โดยย่อมรู้ หรือควรรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด หรือมีพฤติกรรมปกปิด เปลี่ยนแปลงทรัพย์ ไม่ว่าบุคคลใดย่อมมีความผิดฐานฟอกเงิน

ส่วนคำสั่งพนักงานอัยการที่ให้ DSI สอบสวนเพิ่มเติม แล้วส่งเรื่องกลับมาภายในวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมานั้น เนื่องมาจากการร้องขอความเป็นธรรมของนายวนรัชต์ และน.ส.ยสบวร จึงต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่ร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งผลการสอบสวนจะสมบูรณ์100% ในประมาณวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 แต่อย่างไรก็ตามได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมไปแล้วในวันที่ 26 มกราคม ประมาณ 95% ซึ่งหากมีหลักฐานเพียงพอพนักงานอัยการอาจมีความเห็นสั่งฟ้องได้เลย ก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์