โปรไฟล์ 7 กนง. ฝ่าแรงกดดันการเมืองสั่งลดดอกเบี้ยนโยบาย

07 ก.พ. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2567 | 08:31 น.

ตรวจสอบเสียง คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ "กนง." 7 คน เป็นใคร วิธีคิดการบริหารเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่ละคนจะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ฝ่ายการเมือง "เศรษฐา ทวิสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมากดดันหรือไม่

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วันนี้ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย นับเป็นการประชุมที่ได้รับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองอย่างหนัก หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมากดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ลงมา

“นโยบายการคลังต้องไปพร้อมกับนโยบายการเงิน วันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้ว กรอบเงินเฟ้อยังติดลบอยู่ เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ลดลงไปเหลือ 2.25% ก็ยังมีช่องว่างอีกเยอะ ถ้ามีวิกฤตเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงไปได้อีก ช่องว่างยังมีอยู่อีกเยอะมาก ตอนนี้ inflation (เงินเฟ้อ) ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ มันจะเป็น deflation (เงินฝืด) แล้ว เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยถึงเวลาแล้ว” นายเศรษฐาฝากไปถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า กนง.ยังไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นวิกฤตในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหาและเก่า ต้องได้รับการแก้ไข

ที่สำคัญหากดูจากจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจเติบโตช้า เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำถึงติดลบสินเชื่อผิดนัดชำระมากขึ้น ทำให้กนง. ควรมีการผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน แต่คงก็ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เพราะอย่างไรต้องรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อน เพราะมิเช่นนั้นจะเกิดความต่างดอกเบี้ยของไทย-กับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เกิดขึ้น ทำให้มีเสี่ยงเงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก

อันที่จริง ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 โดยให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาผ่านการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

การตัดสินใจว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกนง. 7 คน ที่มีผู้ว่าธปท. เป็นประธาน มีรองผู้ว่าการ 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการ เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินในกฎหมาย

  • กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
  • กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
  • กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
  • ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่กำหนดให้ กนง.จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

กนง.จะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ทุก 7-10 สัปดาห์ (ปีละ 6 ครั้ง) รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม

คณะกรรมการนโยบายการเงินชุดปัจจุบัน

  • เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการ
  • อลิศรา มหาสันทนะ รองประธานกรรมการ
  • รุ่ง มัลลิกะมาส กรรมการ
  • ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน กรรมการ
  • รพี สุจริตกุล กรรมการ
  • รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการ
  • สันติธาร เสถียรไทย กรรมการ
  • ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ

 

 

โปรไฟล์ 7 กนง. ฝ่าแรงกดดันการเมืองสั่งลดดอกเบี้ยนโยบาย

 


 

 

ปกติการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะดูจากข้อมูล ทั้งด้านการเงิน การคลัง การต่างประเทศ และการผลิต ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบราคาสินค้า อาทิ ราคาน้ำมันโลก นโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ หรือราคาสินค้าเกษตรโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ที่ธปท.รายงาน ประกอบการตัดสินใจ

การประชุมกนง.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมกนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง โดยในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 3.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%

แต่หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ออกมากดดันส่งสัญญากดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาในการประชุม กนง. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 หลายฝายต่างจับตามองว่า กนง.จะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่?

หากดูจากโครงสร้างกรรมการกนง. บรรดานักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า กรรมการที่เป็นตัวแทนจากธปท. 3 คน คือ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. ในฐานะประธานกรรมการ และรองผู้ว่าธปท.อีก 2 คน คือ อลิศรา มหาสันทนะ และ รุ่ง มัลลิกะมาส จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เพราะสัญญาณที่ออกมาจากธปท.ก่อนหน้านี้ระบุชัดเจนว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ตัวแปรสำคัญว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอยู่ที่ กรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิอีก 4 คน

คนแรก คือ “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” อดีตรองผู้ว่าการธปท.

“ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” เป็นหนึ่งในนักเรียนทุนแบงก์ชาติ จบการศึกษา หลักสูตร AMP (Advanced Management Program), Harvard Business School

Master of Business Administration (MBA) สาขา Finance, University of Chicago Graduate School of Business

BSc Econ (Monetary Economics), London School of Economics and Political Science, University of London

“ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน”  เติบโตมาจากสายตลาดการเงินและนโยบายการเงิน เคยรับผิดชอบส่วนตลาดการเงิน ฝ่ายการธนาคาร เคยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.สายนโยบายการเงิน และรองรองผู้ว่าการดูแลงานด้านบริหาร

ด้วยความเป็นลูกหม้อธปท. แนวคิดในการบริหารนโยบายการเงินของ “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” จึงยึดหลักการบริหาร “เสถียรภาพระบบการเงิน” ไทยให้มีความแข็งแกร่งตามหลักการการบริหารของ “ธนาคารกลาง” อย่างเหนียวแน่น

คนที่ 2  "รพี สุจริตกุล" เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนที่ 6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายจาก University of Essex และปริญญาโทด้านกฎหมาย จาก University of Bristol สหราชอาณาจักร

หลังจบการศึกษา "รพี สุจริตกุล" เริ่มการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนจะมาร่วมงาน กับ ก.ล.ต. ในช่วงปี 2535-2547 เป็นคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในตลาดทุนที่ยาวนาน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในภาคเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหลายแห่ง

เช่น กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กรรมการสมาคมส่งเสริม สถาบันกรรมการบริษัทไทย กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เป็นต้น ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐคือ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

 "รพี สุจริตกุล"  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ ของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ในช่วง 4 ปีที่เขาเป็น เลขาฯ ก.ล.ต. สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการวางรากฐานและประสานความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดทุน

"รพี สุจริตกุล" พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 จากนั้นในปี 2563 เขาก็ได้รับความไว้วางใจให้เขามาเป็นกรรมการ กนง. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2563

อีกทั้งยังเป็นกรรมการอีกหลายแห่งในปัจจุบัน ทั้งในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ กรรมการอำนวยการ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กรรมการ บริษัท โพเมโล แฟชั่น จำกัด กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด

คนที่ 3 "รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส" อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 11 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)  หรือเอสซีจี องค์กรขนาดใหญ่แถวหน้าของเมืองไทย จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเหมืองแร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ University of Texas (Arlington) สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานกับเอสซีจีในปี 2530 ในตำแหน่งวิศวกร บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย ปี 2534 ไปเรียนต่อปริญญาโทที่คณะบริหารธุรกิจ Harvard  Business School ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักเรียนทุน Harvard คนที่ 2 ของเอสซีจี ต่อจากชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 9

ในช่วงที่ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส บริหารเอสซีจี เขาให้ความสำคัญกับ เรื่อง “Innovation” อย่างมาก ทำให้ในช่วงที่เขาบริหารมีการงบให้กับการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม High Value Product and Service หรือที่เรียกว่า HVA เพื่อแข่งขันกับตลาดโลก รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของ Technology ในยุค Globalization เพื่อรับมือกับ Digital Disruption

ที่สำคัญ "รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส"  ยังให้ความสำคัญกับ Environment, Social และ Governance หรือ  ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล

คนสุดท้ายได้แก่ "สันติธาร เสถียรไทย"  หรือ ดร.ต้นสน นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เจ้าของสมญานาม “นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก Asia Society ให้เป็น 1 ใน 21 ผู้นำรุ่นใหม่แห่งเอเชีย ประจำปี 2017 ลูกชาย "สุรเกียรติ เสถียรไทย" อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

 "สันติธาร เสถียรไทย" จบปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์และโทจากมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Sciences (LSE) จบปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และจบปริญญาเอก ด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก ด้วยทุนการศึกษาของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พร้อมรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ "สันติธาร เสถียรไทย" ผ่านเวทีต่างๆ มักให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง มากกว่าการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยเขาเห็นว่าปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางโครงสร้างที่ต้อง “ผ่าตัด” และ “บำบัดรักษา” มากกว่าใช้ยากระตุ้นระยะสั้น

หากดูจากวิธีคิด หลักการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของกรรมการ กนง. ที่มาจากคนนอกทั้ง 4 คน ล้วนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยาวทั้งสิ้น จึงเชื่อว่าผลการประชุมกนง.ในวันนี้(7 ก.พ. 67) กรรมการเสียงส่วนใหญ่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% โดยไม่สนใจแรงเสียดทานด้านการเมือง

ล่าสุดนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย  2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี