3 นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ ไม่เข้าสู่ยุคเงินฝืด

06 ก.พ. 2567 | 11:24 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2567 | 11:43 น.

3 นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤติเหมือนยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ขณะที่เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือน ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดปัญหาเงินฝืด คาดปีนี้ขยายตัว 3% มองปัญหาใหญ่เป็นเชิงโครงสร้าง สูญเสียความสามารถการแข่งขัน ปัญหาหนี้ครัวเรือน

คำสัมภาษณ์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาส่งสัญญาณกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน เป็นสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พร้อมกังวลว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในยุคต้มยำกุ้ง กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ยุควิกฤติจริงหรือไม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤต แต่เติบโตช้า

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีมุมมองกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า มีวิกฤตในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหาและเก่า ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเข้าใจดีว่าต้องให้เวลารัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบเป็นเวลาติดต่อกัน 4 เดือน และติดลบมากที่สุดในรอบ 35 เดือนนั้น เป็นผลมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน และ ไฟฟ้า รวมถึงราคาสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรับตัวลดลง  โดยมองว่าน่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว น่าจะเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง

“ถ้าให้มองตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤตร้ายแรง แต่เติบโตช้า ถ้าเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตโควิด19 ก็จะเห็นชัดเจนว่าจีดีพีตอนนั้นติดลบไปเลย การที่เงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาะวิกฤต”

เชื่อธปท. ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายบุรินทร์ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์จะให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 0.52% ซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำจนต้องเป็นกังวล โดยมองว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ ก็สามารถทำได้ แต่ก็เชื่อว่า ธปท. จะเริ่มปรับลดลงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“ธนาคารกลางทั่วไป มองว่า ถ้าดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ แต่ปัจจุบันไทยไม่มีสัญญาณฟองสบู่ ทั้งในด้านตลาดทุน , อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่น ๆ ถ้ามองในมุมนี้ก็ถือว่ามีหลายปัจจัยเปิดทางให้แบงก์ชาติสามารถลดดอกเบี้ยได้”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้ราว 3% หากรวมกับมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต น่าจะเติบโตได้ 3.5% แต่จะคุ้มค่าหรือไม่นั้น ยังคงต้องถกเถียงกันในหลายมิติ ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทั้งภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก จากภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่น่าจะเริ่มกลับดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนความเสี่ยงของไทยคือหนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ และ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

CIMB วิเคราะห์ 4 ปัจจัยทำเงินเฟ้อต่ำ

ดร.นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทย วิกฤตบางส่วน เช่น ภาคการเกษตร กลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิตยังฟื้นตัวได้ช้า มีเพียงบางส่วนที่มีสัญญาณเติบโต เช่น ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศของชนชั้นกลางตอนบนสะท้อนถึงการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึง

สำหรับประเด็นเรื่องเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน มีปัจจัยมาจากหลายส่วน ได้แก่

มาตรการลดราคาค่าครองชีพ ทั้งค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่ารัฐบาลน่าจะคงมาตรการนี้ต่อไปอีกซักระยะจนถึงกลางปี

ราคาสินค้ากลุ่มอาหาร เนื้อสัตว์ และ พืชผัก ปรับตัวลดลง มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดในปริมาณค่อนข้างมากกว่าปกติ ซึ่งมองว่าเป็นเพราะสภาพอากาศที่ดีขึ้น แต่จะเป็นปัจจัยชั่วคราว ต้องไปดูรายได้ภาคการเกษตรว่าปรับตัวอย่างไร ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร และพลังงานมีความผันผวน

“ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) อยู่ในระดับ 0.5% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ภาวะวิกฤติ และไม่ใช่ภาวะเงินฝืด ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อหดตัว แต่เป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อลดลง หรือ Disinflation คือการชะลอตัวของภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไป”

นายอมรเทพ มองว่า ในภาพรวมของปี 2567 เชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อติดลบเป็นสถานการณ์ชั่วคราว แต่จะไม่ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีอย่างแน่นอน เพราะหากเทียบแบบเดือนต่อเดือนยังคงเป็นบวกอยู่ ในขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมีสัญญาณการฟื้นตัวหลายปัจจัย โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อติดลบจากราคาสินค้าที่ชะลอตัวลง มีผลดีต่อผู้บริโภค เพราะต้นทุนการใช้จ่ายจะลดลง แต่ถ้ายังอยู่ในระดับต่ำต่อไป จะส่งผลต่อผู้ประกอบการจะไม่แรงจูงใจในการสต๊อกหรือผลิตสินค้า ไปจนถึงการลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับมีความเสี่ยงที่สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SME อาจจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ดังนั้นหากเงินเฟ้อต่ำลากยาว จะส่งผลกระทบแน่นอน

เดือน ลดดอกเบี้ยเสี่ยงเงินทุนไหลออก

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น มองว่า จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเงินเฟ้อต่ำ เศรษฐกิจกำลังโตช้า มีสินเชื่อผิดนัดชำระมากขึ้น ควรมีการผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน แต่ก็ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เพราะอย่างไรก็ตาม ต้องรอเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อน

มิเช่นนั้น ความต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ เสี่ยงเงินทุนไหลออก ไปจนถึงเงินบาทอ่อนค่าลงแน่นอน ช่วงนี้ รัฐบาลก็ควรออกมาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไปก่อน

เปรียบเศรษฐกิจไทยเป็น “มังกรงง”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มองว่าเปรียบเสมือนเป็น “มังกรงง” นอกจากเรื่องเงินเฟ้อ ยังมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในระยะยาว คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 3-3.1% แต่หากรวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ก็ขยายตัวได้เพิ่ม 0.5% ส่วนปี 2566 ปรับลดคาดการณ์ลง เหลือขยายตัวได้ 2% จาเดิมที่คาดไว้ 2.4%

นิด้า วิเคราะห์ ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวถึงกรณีกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2567 ที่ติดลบ 1.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ว่า เงินเฟ้อที่ติดลบ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ได้รับการอุดหนุนจากการดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาลเอาไว้ จึงทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง

“ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ได้บ่งชี้ต้นทุนการผลิตโดยตรง เช่น เรื่องราคาน้ำมัน ถ้าเทียบแต่ก่อนราคาสูงขึ้น จึงต้องดูว่าเป็นภาระต่อต้นทุนการผลิตมากน้อยแค่ไหน โดยต้องไปเทียบกับประเทศอื่น ๆ ด้วย อีกอย่างยังต้องดูนัยยะต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งปลายทางอาจส่งผลไปถึงหนี้สินครัวเรือน โดยถ้าไม่เร่งแก้ไข การจะทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนปรับลดลงก็คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากด้วย” ผศ.ดร.สันติ กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา นิด้า ได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า มีความรู้สึกถึงค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อกลับบอกว่าลดลง ดังนั้นภาวะที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนให้เราเห็นว่า ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญกำลังสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

ผศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ถ้ามองประเด็นว่าเมื่อเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่องแล้วจะเกิดปัญหาเงินฝืดขึ้นได้หรือไม่ คงไม่สามารถระบุออกมาได้ชัดเจน เพราะตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบมา 4 เดือนนั้น คงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังต้องขับเคลื่อนอยู่ด้วยเครื่องยนต์หลัก ๆ คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลตั้งความหวังให้เติบโตไว้มากในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป