ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ (อาจารย์มิก) อาจารย์กฎหมายภาษีอากร และ CEO iTAX ให้ความเห็นต่อระบบ Negative Income Tax (NIT) ผ่านรายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูปช่องฐานเศรษฐกิจว่า เป็นระบบที่ทำให้ทุกคนต้องเข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง
ทั้งการมีข้อมูลครบถ้วน พร้อมสำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้โดยสะดวก และตรงเป้า สามารถโอนเงินสู่ประชาชนได้โดยตรง ช่วยลดความซ้ำซ้อนของระบบได้ ประชาชนไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิหลายๆครั้ง
Negative Income Tax ทำให้มีฐานภาษีกว้างขึ้น ซึ่งอาจเก็บภาษีได้มากขึ้นจึงสามารถดำเนินนโยบายลดอัตราภาษีลงมาได้ และเมื่อคนที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี วันหนึ่งที่มีรายได้เข้าเกณฑ์เสียภาษีแล้ว ภาครัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีตามระบบได้เลย
โดยส่วนตัวแม้จะเห็นด้วยกับ Negative Income Tax แต่ก็ไม่ได้มองว่าจะสามารถทำได้โดยง่ายในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยยังมีตัวเลขเศรษฐกิจที่อยู่ในด้านมืด ที่อยู่นอกระบบอยู่มาก ซึ่งยังไม่สามารถนำขึ้นมาบนดินได้ และเศรษฐกิจนอกระบบเหล่านี้อยู่นอกระบบภาษีอีกด้วย ดังนั้นกรมสรรพากรจำเป็นต้องมีข้อมูลมากกว่าที่ผู้ยื่นแบบภาษีแจ้งเอาไว้
โดยอาจต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะจำเป็นต้องตรวจสอบ เช่นการมีเงินโอนเข้าบัญชี 3,000 ครั้ง หรือ 400 ครั้งเป็นเงิน 2 ล้านบาท หรือการเชื่อมโยงข้อมูลกับเครดิตบูโร เช่นกรณีผู้มีสินเชื่อรถหลายๆคัน แสดงว่าเป็นผู้มีรายได้ไม่น้อยแต่กลับไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ก็ต้องมีการตรวจสอบ เป็นต้น
อีกประการที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือ หรือกระทั่งระบบ Negative Income Tax ก็คือต้องมีเงินสำหรับดำเนินมาตรการเสียก่อน เพราะหากต้องกู้มาเพื่อทำมาตรการจะถือว่ามาผิดทาง เพราะในประเทศที่ใช้มาตรการ Negative Income Tax เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ล้วนเป็นประเทศที่มีฐานะดี และมีความพร้อมจะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งประเทศไทยยังต้องทำอะไรอีกมากพอสมควรที่เราจะมีอำนาจทางการเงินมากพอจะไปทำสิ่งนี้ได้
ดังนั้นข้อแรกที่ควรทำก่อนเรื่อง Negative Income Tax ก็คือการกวาดเอาสิ่งควรจะเก็บภาษีได้ สิ่งที่ควรจะเป็นของรัฐเอามาให้ได้เสียก่อน ถัดมาคือทัศนคติ และความพร้อมของหน่วยงานรัฐในการดำเนินมาตรการ หรือนโยบายรัฐ รวมถึงความพร้อมที่ต้องรองรับประชาชนในการยื่นภาษีปีละ 40-60 ล้านคนต่อปี
และต้องมีระบบที่สามารถใช้งานได้ง่าย และสะดวกมากพอ เพื่อให้คนที่ไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน สามารถเข้าถึงระบบภาษีได้โดยง่าย เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความพร้อมทั้งการดูแล และให้ความรู้กับประชาชนเพื่อไม่ให้มีใครตกหล่นอีกด้วย
ข้อดีของการที่ประชาชนทุกคนอยู่ในระบบภาษี ยังอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงของการตระหนักถึงคุณค่าของเงินภาษี และมองเห็นเรื่องภาษีเป็นสิ่งปกติธรรมดา นำไปสู่การยกระดับประชาชนให้เป็น Active Citizen ที่สนใจและตรวจสอบมากขึ้น เกี่ยวกับการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ และทำให้ผู้ใช้เงินภาษีของประชาชนต้องมีความเกรงใจประชาชนเจ้าของภาษีมากขึ้นในอนาคต อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต