ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 10ก.ย. “แข็งค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์

10 ก.ย. 2567 | 00:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2567 | 03:40 น.

ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sidewaysควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนและอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ราว 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 10ก.ย. 2567  ที่ระดับ  33.90 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.96 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้

ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเราจะมั่นใจได้มากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (ซึ่งจะเป็นการยืนยันสัญญาณเชิงเทคนิคัลของการกลับตัวอ่อนค่าลง หากประเมินจากกราฟรายวันของ USDTHB) อนึ่ง ในช่วงวันนี้

 เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์)

ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.50 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงวันพุธนี้ ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนและอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ราว 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ

เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจไม่รีบลดดอกเบี้ย เท่ากับบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะเฟด (The Most Hawkish Major Central Banks) ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้ช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น หากข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งอาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ

การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.83-33.98 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ

ทรงตัวเหนือระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเข้าใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์  

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +3.5%, Tesla +2.6%

ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจน จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI และการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +1.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.16%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.82% หนุนโดยบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็มีความหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และอาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว -250bps จนถึงสิ้นปีหน้า และ

เฟดอาจจบรอบการลดดอกเบี้ยที่แถว 3.00% ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.70% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าลง สลับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน และโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 101.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.7 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ตามจังหวะปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยราคาทองคำยังพอทรงตัวแถวระดับ 2,536 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานของอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราการเติบโตของค่าจ้าง และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ซึ่งหากตลาดแรงงานอังกฤษส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้นชัดเจน ก็อาจเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะสามารถเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.88-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.32 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อคืนที่ผ่านมาที่ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าเช่นเดียวกับค่าเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ประคองการฟื้นตัวตามจังหวะแรงซื้อคืนต่อเนื่องเพื่อปรับโพสิชันของนักลงทุนท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลง เนื่องจากตลาดยังรอติดตามรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือนส.ค. ของสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.80-34.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชีย ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค. ของจีน รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่