ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 19ก.ย. “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์

19 ก.ย. 2567 | 01:07 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 02:24 น.

ค่าเงินบาทโมเมนตัมของการอ่อนค่าเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น กดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 19ก.ย. 2567 ที่ระดับ  33.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.26 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้น อีกครั้ง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง

ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นได้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ทำให้ในช่วงระยะสั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์

(หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ จะมีแนวต้านถัดไปแถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอย่างฝั่งผู้ส่งออก ก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้างในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้ ผลการประชุม BOE ที่อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง หาก BOE มีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (ตลาดมอง BOE จะลดดอกเบี้ยราว -50bps ในปีนี้)

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์

ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (กรอบการเคลื่อนไหว 33.06-33.41 บาทต่อดอลลาร์) แต่โดยรวมเป็นทิศทางการอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า 

โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก เข้าใกล้แนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาทองคำ หลังที่ประชุม FOMC ของเฟด มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (11 ต่อ 1) ให้ลดดอกเบี้ย -50bps สู่ระดับ 4.75%-5.00% ตามที่ตลาดคาด

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ใหม่ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างที่ตลาดคาดหวัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.39-33.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.21 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังการประชุมเฟด ซึ่งตลาดมองว่า การเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดน่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ หลังอ่อนค่าลงในช่วงแรกรับผลการประชุมเฟดเมื่อคืนที่ผ่านมาซึ่งมติที่ออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาที่กรอบ 4.75-5.00% พร้อมกับส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อในรอบการประชุมที่เหลือของปี โดยสัญญาณจาก dot plot สะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ก่อนสิ้นปีนี้ และเฟดยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีหน้าด้วยเช่นกัน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.30-33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดต่อสัญญาณจากผลการประชุมเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก  ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOE และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค.
 

 

 

อีกทั้งประธานเฟดยังได้เน้นย้ำว่า การเร่งลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบ Soft Landing ได้ (ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Economic Recession) และช่วยให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพได้

โดยมุมมองดังกล่าวของประธานเฟด ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงกว่า -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้สุดท้ายเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์

แม้ว่าเฟดจะมีมติเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ตามที่ตลาดคาดหวัง ทว่าถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดล่าสุด (Dot Plot) กลับไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นเทคฯ อาทิ Nvidia -1.9% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นพอสมควร ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.29%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.50% ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ LVMH -1.9%, ASML -1.5% ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะมาหลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการไปแล้ว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้น Novo Nordisk -2.4% หลังมีประเด็นว่า ราคายาเบาหวานยอดนิยม Ozempic เสี่ยงจะถูกปรับลดราคาลงอย่างมากในสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยมีจังหวะปรับตัวลดลงใกล้โซน 3.65% ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.73% หลังคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) และถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวังก่อนหน้า

สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง ทั้งนี้ เราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างชัดเจนแล้ว

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเร็ว หลังเฟดมีมติเร่งลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่และถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้สะท้อนว่าเฟดจะเดินหน้าเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง

ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ผ่านการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซน 143 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-101.1 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟด ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนสูงเช่นกัน

โดยราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในช่วงแรก ก่อนปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,580 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ตามการส่งสัญญาณไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับวันนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญหลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00% ตามเดิม ทว่า BOE อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม

หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงเข้าใกล้เป้าหมายของ BOE มากขึ้น ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้การลดดอกเบี้ยของ BOE ไม่ได้เร่งรีบมากนัก

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE เพราะหาก BOE ประเมินภาพเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงมากขึ้น หรือ ดูแย่กว่าคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยชัดเจน ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงอ่อนค่าลงได้บ้าง 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ และข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด (ว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยได้จริง ตาม Dot Plot ใหม่หรือไม่)